ส่อง! ธุรกิจคาเฟ่กับเทรนด์ตกแต่งร้านกาแฟมาแรงในเกาหลีใต้ที่โดนใจผู้บริโภค


ร้านคาเฟ่ในเกาหลีใต้กลายเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง ด้วยอิทธิพลทางวัฒนธรรม รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ จึงทำให้คนเกาหลีใต้นิยมดื่มกาแฟเป็นอย่างมาก จึงนำมาสู่การเปิดคาเฟ่หลากหลายสไตล์ขึ้นมา

ตามข้อมูลจากกระทรวงเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้ (Small Enterprises and Market Service) พบว่าปัจจุบันในเกาหลีใต้มีร้านกาแฟมากกว่า 100,000 ร้าน เมื่อเปรียบเทียบกับร้านสะดวกซื้อแล้ว พบว่ามีจำนวนมากกว่า 1 เท่าตัวเลยทีเดียว

นอกจากนี้ สถิติในปี 2016 พบว่าคนเกาหลีใต้ดื่มกาแฟมากกว่า 25,000 ล้านถ้วย หรือคิดเป็น 500 ถ้วยต่อปีโดยเฉลี่ย ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เหล่านี้จึงทำให้ตลาดกาแฟเติบโตอย่างรวดเร็วดูได้จากรายได้การขายกาแฟในประเทศที่เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 3 แสนล้านวอนเป็น 8.8 แสนล้านวอน ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

อีกหนึ่งที่เป็นจุดน่าสนใจของการเปิดร้านกาแฟ คือการออกแบบร้านให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ โดยการสร้าง Concept ร้านให้เป็นไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เพื่อสร้างกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ นั่นคือลูกค้าที่มีความชื่นชอบในเรื่องเดียวกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 เทรนด์ ดังต่อไปนี้

1.ธุรกิจคาเฟ่ที่ได้รับความสนใจมาจากสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง

เช่น ร้าน Awesome Malta ย่านยอมนันดง ที่เจ้าของร้านได้รับแรงบันดาลใจมาจากการไปเที่ยวประเทศมอลตา โดยภายในร้านเต็มไปด้วยการตกแต่งที่มีกลิ่นอายของศิลปะสไตล์ Maltese จึงทำให้เห็นว่าลูกค้าที่มาใช้บริการจะเป็นเฉพาะกลุ่ม

2. ธุรกิจคาเฟ่อาหารสุขภาพ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์การรักสุขภาพกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน โดยผู้บริโภคจะหันมาใส่ใจกับอาหารการกินมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจคาเฟ่อาหาร หรือเบเกอรี่ ที่ต้องเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และให้ประโยชน์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น ร้าน Plant Café ในย่านอีแทวอน ที่ทุกเมนูอาหารจะเป็น Plant-Based ไม่ว่าจะเป็น Gluten-Free Chocholate, Peanut Butter Cake

3.ธุรกิจคาเฟ่ที่มีจุดขายเป็นวัตถุดิบใดวัตถุดิบหนึ่ง

ร้านแนวนี้จะมุ่งเน้นการโฆษณาวัตถุดิบใดวัตถุดิบหนึ่งเป็นส่วนผสมหลักของเมนูทางร้าน เช่น ร้าน Osulloc Tea House ที่มีมากกว่า 63 สาขาทั่วประเทศ โดยมีจุดขายเป็นชาเขียวจากเกาะเจจูที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในหลายเมนูของร้าน เช่น เครื่องดื่มชาเขียว, เค้กโรลชาเขียว, บิงซูชาเขียว และไอศกรีมชาเขียว

4.ธุรกิจคาเฟ่ที่มีจุดขายเป็นกิจกรรมต่าง ๆ

ร้านแนวนี้จะเป็นการเป็นการให้ลูกค้าซื้อเครื่องดื่มควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ร้าน Ring Making Café ในย่านฮงแด ที่ลูกค้าสามารถประดิษฐ์ และออกแบบแหวนได้ด้วยตนเองตั้งแต่เลือกรูปแบบแหวน สไตล์ รวมไปถึงการแกะสลักแหวนที่ลูกค้าสามารถทำได้ตามใจชอบ

5.ธุรกิจคาเฟ่จากแบรนด์ที่โด่งดังอยู่แล้ว

คาเฟ่จากแบรนด์ที่โด่งดังอยู่แล้วเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบแบรนด์ดีไซเนอร์ระดับโลก ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าคาเฟ่ทั่วไป โดยจุดขายอยู่ที่ตราสัญลักษณ์ หรือ Concept อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์นั้น ๆ เช่น Dior Café by Pierre Herme Hermes Café เป็นต้น

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโซล