การมี “เงินเก็บออม” ถือเป็นเรื่องที่ดีทั้งผู้ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือผู้ประกอบการธุรกิจ เพราะเป็นการบ่งบอกถึงการมีวินัยที่พาตัวเองไปสู่ความมั่งคั่ง และมีอิสระทางการเงินของชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น
อย่างไรก็ตาม หลายคนที่เก็บเงินมาได้ก้อนหนึ่งก็มีความคิดต่อยอดไปอีกว่าจะนำเงินไปต่อยอดทำอะไรดีให้งอกเงยขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ อย่างเช่นสมาชิกเว็บบอร์ดพันทิปท่านหนึ่งได้ตั้งกระทู้ว่า ถ้ามีเงินเก็บ 1 ล้านบาท ควรเอาไปลงทุนกับอะไรดี ระหว่างฝากธนาคาร ชื้อประกันออมทรัพย์ ชื้อสลากออมสิน หรือชื้อสลากธกส
เรื่องนี้หลายคนที่เห็นกระทู้นี้อาจจะมองว่า มีเงินเก็บถึง 1 ล้านบาทแล้วจะเอาอะไรอีก? แต่อีกด้านหนึ่งของคนมีเงินออมเมื่อเก็บเงินมาได้สักระยะหนึ่งจะเริ่มมองหาวิธีให้เงินได้ไปทำงาน เพื่อให้งอกเงย ดังนั้น Smartsme จึงมีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกัน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกคนที่มีเงินออม และอยากนำไปต่อยอดให้งอกเงยเพิ่มขึ้น
ก่อนอื่นเราควรกันเงินไว้จำนวนหนึ่งไว้ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน เผื่อหากต้องตกงาน หรือไม่มีรายได้เข้ามาจะได้มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายอย่างไม่ขัดสน สำหรับวิธีคิดก็ง่าย ๆ โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนว่าต้องใช้เท่าไหร่คูณกับเดือนที่คาดว่าจะยังไม่มีรายได้เข้ามา ซึ่งตรงนี้ขอแนะนำไว้สัก 6 เดือน
ตัวอย่าง
- ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 10,000 บาท X 6 เดือน นั่นหมายความว่าจะต้องมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน 60,000 บาท
เมื่อมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือการนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยกันซึ่งแบ่งเป็นช่องทาง ดังต่อไปนี้
ฝากธนาคาร
การนำเงินไปฝากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการฝากแบบออมทรัพย์ หรือการฝากแบบประจำ คือการสร้างความอุ่นใจให้กับตัวเองว่าเงินจะไม่ได้หายไปไหน แต่จะมีข้อเสียอยู่ว่าการได้ดอกเบี้ยที่ต่ำประมาณ 1-2% ซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อย ๆ
ทำธุรกิจ
การลงทุนทำธุรกิจก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจ แต่ผู้ที่จะเข้ามาจะต้องศึกษาทำการบ้านมาเป็นอย่างดีเสียก่อน รู้ว่าเทรนด์ของตลาดตอนนี้เป็นอย่างไร หากมาแบบสุ่มสี่สุ่มห้าอาจจะเจ๊งน้ำตาตกแบบไม่รู้ตัวก็เป็นได้ หากจะแนะนำเทรนด์ที่กำลังมาตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพ กับสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ก็ต้องมานั่งคิดต่อแล้วว่าสินค้าอะไรที่จะตอบโจทย์เทรนด์นี้ เช่น อาหารเสริม, อุปกรณ์ออกกำลังกาย เป็นต้น
หุ้น
การลงทุน “หุ้น” คือการนำเงินเข้าไปซื้อหุ้นในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เรามองว่าจะสามารถเติบโตให้ผลกำไรในอนาคต ซึ่งจะมีข้อเสียตรงที่เราจะไม่ได้บริหารความเสี่ยงเอง และบางครั้งอาจมีความผันผวนจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามากระทบได้
แม้ว่าการลงทุน “หุ้น” อาจไม่จำเป็นต้องลงมือลงแรงมากแต่อย่างใด แต่ก่อนตัดสินใจซื้อก็ควรศึกษา ทำความเข้าใจ “หุ้น” ที่เราจะซื้อมาให้ดีเสียก่อน อย่าลงทุนในเรื่องที่ไม่รู้ เพราะไม่เช่นนั้นพอร์ทการลงทุนของคุณอาจจะติดลงเป็นสีแดงหมดไปก็ได้
กองทุนรวม
จากข้อข้างบนหากยังไม่มีความมั่นใจ “กองทุนรวม” ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับมือใหม่ที่อยากจะลงทุน เพราะจะมีผู้จัดการกองทุนมาคอยดูแลให้ โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลามานั่งเช็ค อีกทั้งยังมีข้อดีตรงที่ใช้เงินลงทุนไม่ต้องเยอะเหมือนซื้อหุ้น (บางกองทุน 500 บาท สามารถซื้อได้แล้ว) และยังกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม ก่อนการซื้อกองทุนรวมคุณจะต้องประเมินความเสี่ยงก่อนว่ารับได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นค่อยมาเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะกองทุนที่จะเลือกให้ลงทุนมีมากมาย หลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กองทุนหุ้น จะมีความผันผวนมาก มีการขึ้น-ลงตลอดเวลา ซึ่งอยู่ที่ว่าคุณจะรับความเสี่ยงนี้ได้หรือไม่
ทั้งนี้ การลงทุนที่ดี คือความมีวินัยในการลงทุน ซึ่งอาจจะใช้วิธีการที่เรียกว่า DCA ซึ่งหมายถึงการลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่ากันในทุก ๆ เดือน และควรมองภาพการลงทุนในระยะยาวสัก 3-5 ปี หรือเกิน 10 ปี ก็ยิ่งดี
หลายคนอาจจะมองว่าการลงทุนเป็นความเสี่ยง แต่อยากจะบอกว่าถ้าไม่ลงทุนเลยเสี่ยงยิ่งกว่า