Toxic People เป็นหนึ่งในปัญหาที่หนักใจของเหล่าหัวหน้า จนลามไปถึงคนที่ต้องคลุกคลีกับเขาอย่างลูกน้อง หรือพนักงานในองค์กรทุกคน เพราะคนประเภทนี้คือ คนที่เอาเปรียบ ไม่สนใจคนอื่น ทำให้บรรยากาศในการทำงานเสีย แม้เขาจะทำงานได้ดี แต่ด้วยกับนิสัยส่วนตัวที่ชอบเบียดเบียน หรือทำสิ่งที่กระทบกับคนอื่นในด้านลบ จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่น่ากลัวสำหรับองค์กรคุณ
เพราะสุดท้ายแล้วหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานดีๆ หรือคนเก่งๆ ลาออก ส่วนใหญ่ก็มาจากเพื่อนร่วมงานที่ไม่โอเค หรือเพราะนิสัยของ Toxic People เหล่านี้นี่แหละ เนื่องจากงานหนักเขายังทนทำได้ จบแล้วก็จบไป หัวหน้าแย่เขายังไม่ต้องเจอบ่อย นานๆ ทีถึงจะคุยกันที แต่กับเพื่อนร่วมงานที่นิสัยไม่ดี เขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนแบบนี้ตลอดวันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ซึ่งไม่ส่งผลดีให้กับเหล่าพนักงานที่น่ารักแน่นอน แล้วคุณในฐานะหัวหน้าจะจัดการกับ Toxic People เหล่านี้ยังไงดี ถ้าเขามีฝีมือจริง
จะรู้ได้ไงว่าใครเป็น Toxic People
ก่อนที่คุณจะไปดูวิธีรับมือกับคนประเภทนี้ เราต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของพวกเขาก่อน ว่าคนแบบไหนที่ไม่ควรให้อยู่ในองค์กรต่อไป หรือควรพิจารณาเข้าตักเตือนทันที เพราะส่งผลเสียกับพนักงานคนอื่นทุกคน
1. คนชอบอวด พูดจายกตนข่มท่าน ไม่รับฟังความคิดคนอื่น
2. คนชอบบงการ ควบคุมทุกคน จู้จี้จุกจิกทุกเรื่อง แม้ตัวเองจะไม่ใช่หัวหน้า
3. คนชอบดราม่า เจอบ่น เจอตำหนิหน่อยเป็นต้องร้องไห้ ระบายทุกสิ่งอย่างผ่านโลกออนไลน์ จนคนอยู่ใกล้รู้สึกอึดอัด
4. คนที่มองทุกอย่างแง่ลบ เจออะไรก็เก็บเอามาคิดแง่ลบทุกอย่าง การพูดคุยกันบางครั้งที่เป็นคำทั่วไปก็จำมาหงอย มาเศร้า
5. คนขี้อิจฉา เห็นใครได้ดีกว่าไม่ได้ ทำงานดี ได้เลื่อนขั้น เงินเดือนเพิ่ม หรือต่าง ๆ มากมาย จะต้องพูดขัดหรือหาเรื่องนินทา
6. คนขี้โกหก ทุกคนที่อยู่รอบตัวจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพูดจริง หรือโกหก เพราะทำจนติดเป็นนิสัย และส่งผลให้การทำงานขาดซึ่งความไว้ใจ และอะไรต่าง ๆ จะออกมาแย่แน่นอน
7. คนขี้โวยวาย ไม่ได้ดั่งใจอะไรก็ต้องโวยวาย เถียงหัวหน้า เถียงเพื่อนร่วมงานตลอด ใช้อารมณ์ตัดสิน
นอกจากนี้ยังมีคนอีกหลากหลายประเภท ที่ถูกจัดอยู่ใน Toxic People เช่น คนขี้นินทา เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้คุณควรจะจับตามองเป็นพิเศษ เพื่อเรียกคุยตักเตือน หรือคาดทัณฑ์บนไว้
จัดการกับ Toxic People ยังไง หากเขาเป็นคนที่มีความสามารถ
เมื่อคุณสามารถจำแนกได้แล้วว่าพนักงานคนไหนมีความเป็นพิษ หรือแสดงออกด้วยนิสัยที่ไม่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ทีนี้คุณต้องหันกลับมามองว่าเขาคนนั้นมีค่าพอจะให้เก็บเอาไว้หรือไม่ หากความสามารถของเขาไม่เข้าตา หรือโดดเด่นจนเกินไป คุณสามารถหาคนใหม่มาแทนได้ทันที การกำจัดเขาออกไปด้วยการไล่ออก อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรของคุณ
แต่ถ้าเขาคนนั้นมีความสามารถมาก หรือคุณไม่อยากไล่ใครไป อยากให้โอกาสเขาสักหน่อย ก็ต้องอาศัย 3 วิธีการเหล่านี้ เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเอายังไงต่อไปในอนาคต
1. เรียกคุย เพื่อให้เขารับรู้ข้อเสียของตัวเอง
อันดับแรกเมื่อคุณได้รับแจ้งหรือรู้ด้วยตัวเอง ว่าใครเป็น Toxic People ในองค์กร คุณต้องเรียกคนคนนั้นคุยทันที เพื่อบอกว่าเขาเป็นคนยังไง มีนิสัยอะไรที่อาจส่งผลกระทบต่อคนอื่น บอกให้เขาปรับลดข้อเสียตรงจุดนั้น เพราะหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีข้อเสียอะไรจนกระทั่งมีคนพูดกับเขาตรง ๆ ซึ่งเขาอาจจะปรับปรุงแก้ไขตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับตัวคุณเองที่สุด เพราะไม่ต้องเสียเวลารับสมัครพนักงานใหม่ หรือลำบากใจที่จะไล่เขาออก
2. ยื่นข้อเสนอ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ทำอีก
เมื่อเรียก Toxic People เข้าพบแล้ว คุณต้องเตรียมข้อเสนอไว้ให้เขาด้วย เพื่อเป็นเครื่องการันตียืนยันว่าเขาจะไม่ทำผิดแบบเดิมซ้ำ หรือใช้นิสัยแบบนี้ในที่ทำงานอีก เช่น ถ้าเขายังคงโกหกอยู่ แล้วมีคนจับได้ หรือถ้ามีคนมาบอกว่าเขาหาเรื่องนินทาใครอีก บงการใครอีก หรือทำตัว Toxic อีก ครั้งต่อไปจะต้องโดนไล่ออก หรือหักเงินเดือน ตามแต่บทลงโทษที่คุณเห็นว่าเหมาะสม เพื่อเป็นการยืนยันว่าคุณไม่โอเคกับนิสัยของเขาจริง ๆ
3. ปลีกตัวให้เขาทำงานคนเดียว
หากเขาเป็นคนที่คุณต้องการจะเก็บรักษาเอาไว้จริง ๆ เพราะมีทักษะ ความสามารถที่ไม่มีใครแทนที่ได้ คุณต้องชั่งน้ำหนักด้วยว่าการเก็บเขาไว้ และส่งผลให้คนอื่นลาออก มันคุ้มกันหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าในระยะยาวมันเป็นอะไรที่ไม่น่าเสี่ยง แต่คุณยังมีวิธีง่ายๆ ที่อาจจะดูโหดร้ายสักหน่อย นั่นคือ การปล่อยให้เขาได้ทำงานด้วยตัวคนเดียว แยกโซนออกไป สั่งงานโดยตรงผ่านคุณเท่านั้น เพื่อให้เขาไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เก็บเขาไว้อยู่ในการดูแลของคุณโดยตรง ก็จะลดปัญหา Toxic ต่าง ๆ ได้บ้างในระหว่างการทำงาน
4. จบทุกปัญหาด้วยการไล่ออก
สุดท้ายแล้วเมื่อทุกวิธีที่คิดได้มันอาจจะไม่ตอบโจทย์ หรือไม่คุ้มที่จะเสี่ยง หนทางเดียวที่จะรักษาพนักงานดีๆ ให้อยู่คู่กับองค์กรต่อไป โดยไม่กลายเป็นคน Toxic People กันหมดทั้งองค์กร นั่นคือ ไล่พนักงานตัวปัญหาคนนั้นออก ซึ่งมันอาจจะดูโหดร้ายไปสักนิด แต่เพราะการให้โอกาสกับพวกเขามันไม่เป็นผล เขาไม่สามารถจัดการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่หน้าที่คุณที่จะต้องดัดนิสัยใคร หากพวกเขาไม่พยายามจะทำมันด้วยตัวเอง กลั้นใจบอกลาแล้วรักษาพนักงานที่ดีๆ ไว้เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด