หนึ่งในปัญหาใหญ่สุดหนักใจที่มีโอกาสเจอได้สูงมากในการทำงาน นั่นคือการกระทบกระทั่งกันของคุณและเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ลูกจ้างก็ตาม เพราะการทำงานจะต้องมีทั้งแรงกดดัน และมีปัญหาต่างๆ เข้ามามากมาย สุดท้ายแล้วเมื่อต้องบริหารงานกับคนมากมาย ความผิดพลาดก็อาจจะเกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นตัวกลางที่คอยสั่งการต่าง ๆ ให้กับทุกคน ปัญหาทุกส่วนก็จะมาแออัดอยู่ที่คุณ และทำให้คุณอาจเกิดกระทบกระทั่งกับแผนกต่าง ๆ ได้จนเป็นเรื่องธรรมชาติ สำคัญที่สุดคือ คุณจะรับมือกับเหตุการณ์ตรงนี้ยังไงเมื่อมันเกิดขึ้น เพื่อรักษาสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน และทำให้พวกเขาไม่ลาออกไปเพื่อหนีปัญหา ตรงนี้แหละที่สำคัญ ซึ่ง 5 วิธีนี้จะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ ลบล้างความเข้าใจผิดของคุณและเขาไปได้ ช่วยให้บรรยากาศการทำงานกลับมาดีเหมือนเดิม
1. เก็บข้อมูล หาสาเหตุที่ทำให้ผิดใจกัน
อันดับแรกคุณต้องรู้ก่อนว่าสาเหตุที่ทำให้คุณและเขาทะเลาะกันคืออะไร หรือเหตุใดที่ทำให้เขาไม่พอใจในตัวคุณ ซึ่งตรงนี้ส่วนใหญ่แล้วการเข้าใจผิดมักจะมาจากการสั่งงานผ่านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแชทไลน์ เฟซบุ๊ก อีเมล หรือการสนทนาต่างๆ ที่ไม่ได้รับรู้ถึงน้ำเสียงของกันและกัน ทำให้คำพูดธรรมดาอาจถูกตีความไปในทางที่ไม่ดี และเข้าใจผิดกันได้ ดังนั้นการสอบถามหาสาเหตุกันตรง ๆ ว่าอะไรที่ทำให้ผิดใจกันนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้
2. มีคนกลางคอยไกล่เกลี่ย
ส่วนใหญ่แล้วการสมานความสัมพันธ์ หรือเคลียร์ปัญหาความเข้าใจผิดให้หายไป แค่ลำพังคนที่ทะเลาะกันสองคนอาจหันหน้าเข้าหากันยากสักหน่อย แต่ถ้าคุณมีบุคคลที่สามมาคอยไกล่เกลี่ย ช่วยเป็นตัวกลางหาทางออกของปัญหานี้ร่วมกันก็จะทำให้ง่ายขึ้น โดยคนกลางตรงนี้ควรเป็นคนที่ฝ่ายนั้นสบายใจ และรู้สึกไว้วางใจที่จะให้เชื่อมสัมพันธ์ เช่น หัวหน้าของเขา หรือเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ที่เคารพ การมีคนกลางจะทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีและรับรู้ว่าจะไม่มีการเข้าข้างกัน ทำให้คู่กรณีของคุณสบายใจและรู้สึกว่าการเคลียร์กันครั้งนี้ยุติธรรม
3. กล่าวขอโทษเมื่อทำความผิด
หากคุณสำรวจตัวเอง และมีการเคลียร์กันถึงปัญหานี้แล้ว ปรากฏว่าคุณเป็นฝ่ายผิด การยอมรับความผิดจะเป็นตัวแปรให้ปัญหานี้จบลงทันที ไม่ควรยืดเยื้อ ดึงดัน แม้ว่าคุณเองจะมีตำแหน่งที่สูงกว่า การยอมรับความจริงข้อนี้ และยอมขอโทษก่อน จะช่วยให้ปัญหาทุกอย่างจบอย่างรวดเร็ว รวมถึงเมื่อขอโทษเสร็จแล้ว คุณต้องสัญญากับคนคนนั้นว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพื่อซื้อใจให้เขาสบายใจที่จะทำงานกับคุณร่วมกันต่อไปนั่นเอง
4. ให้โอกาสฝั่งตรงข้ามถ้าเขาเป็นคนผิด
กลับกันหากคุณเองสำรวจการทะเลาะกันครั้งนี้แล้วคุณเป็นฝ่ายถูก คุณเองก็ควรปล่อยโอกาสให้เขาได้ขอโทษ ไม่ซ้ำเติมในความผิดพลาด ไม่สร้างความแตกแยก หรือประชด ประชันให้ทุกอย่างมันรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แม้คุณจะเป็นฝ่ายถูกก็ตาม เพราะจะสร้างบาดแผลในจิตใจให้เขาจดจำคุณในด้านไม่ดี และรู้สึกไม่อยากร่วมงานกับคุณอีกเลย การเหลือทางหนีทีไล่ไว้ให้คนที่ทำผิดบ้างจะช่วยให้เขากลับตัวได้ไว รับรู้ถึงความผิดของตัวเอง และยอมรับคุณในฐานะหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานที่ดีขึ้น เพราะคุณเองยังให้โอกาส และยอมอยู่ฝ่ายเดียวกับเขาในวันที่เขาทำพลาด
5. สื่อสารอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่ต้องระวังทุกคำพูด
สุดท้ายแล้วคนส่วนใหญ่ในการทำงานก็มักจะทะเลาะกันเพราะเรื่องงาน รวมถึงเรื่องคำพูด เพราะการเลือกใช้คำบางครั้งเราอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่อีกฝ่ายคิด เช่น การแซวเล่นกันในที่ทำงานว่า “ทำงานนี้ให้หน่อยนะ เห็นช่วงนี้ว่าง” ซึ่งเป็นคำพูดที่ดูธรรมดา ๆ ติดเล่นขำขัน แต่คนฟังอาจจะไม่พอใจ เพราะเขาเองอาจมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมากมาย และเหนื่อยไม่แพ้ทุกคน แต่กลับถูกมองว่าว่าง เหมือนคนไม่ได้ทำอะไร
เพราะฉะนั้นทางที่ดีสื่อสารกันออกไปตรง ๆ ในทุกการทำงาน พยายามคุยเล่นในเรื่องที่ได้ประโยชน์ หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีเท่านั้น เช่น “ทำงานนี้ให้หน่อยสิ เห็นว่าเก่งด้านนี้ที่สุดแล้ว ลูกค้าน่าจะชอบฝีมือคุณแน่” หรือการใส่ความออดอ้อนเข้าไป ก็จะทำให้อีกฝ่ายสบายใจที่จะทำงานด้วยในอนาคต หมดปัญหาการทะเลาะกันจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ