การลาออกหรือการย้ายงานนั้นเป็นเรื่องปกติในการทำงาน ซึ่งทุกองค์กรต้องเผชิญกับปัญหานี้อยู่แล้ว แต่จะมากหรือน้อยคือสิ่งที่คุณต้องคอยวิเคราะห์กันอีกทีหนึ่ง เพราะอัตราการลาออกที่มากเกินไป นั่นอาจหมายถึงปัญหาภายในองค์กรที่คุณมองข้าม และทำให้พนักงานรู้สึกไม่สบายใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การดูแลและสภาพแวดล้อมในปัจจุบันของคุณ
ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากประสบปัญหาพนักงานลาออกบ่อยๆ ต้องเทรนคนใหม่อยู่ตลอดเวลา 6 เหตุผลนี้เองที่จะช่วยให้คุณปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมองค์กรให้ดีขึ้นและน่าอยู่มากขึ้นกว่าเดิม
1. ให้คน ๆ เดียวดูแลงานมากเกินไป
พนักงานที่น้อยอาจจะลดต้นทุนให้กับองค์กรของคุณในการจ้างงานได้ แต่ในทางกลับกันหากคุณต้องแลกมาด้วยปัญหาของการต้องรับสมัครคนใหม่บ่อย ๆ และต้องเทรนกันตลอดเวลา 3 เดือนที แบบนี้อาจจะไม่คุ้มกันก็ได้ เพราะการที่พนักงานน้อยและพวกเขาต้องทำงานเยอะ จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่คุ้มค่ากับการทำงาน พนักงานจะหมดไฟ และทำไม่ไหวจนส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ และสภาพร่างกาย ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเหมือนการบีบให้เขาลาออกด้วยตัวคุณเอง ดังนั้นถ้าไม่อยากปวดหัวเรื่องการหาพนักงานใหม่อยู่เสมอ ก็พยายามแบ่งเบาภาระงานให้เหมาะสมด้วยดีที่สุด
2. เงินเดือนต่ำเกินไป รู้สึกไม่คุ้มค่า
เงินเดือน มีผลต่อการทำงานของพนักงานคนหนึ่งมากที่สุดแล้ว เพราะการทำงานเราย่อมหวังผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับแรงและเวลาที่ลงทุนไป ซึ่งการเพิ่มเงินเดือนเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้พนักงานอยากจะอยู่กับองค์กรของคุณตลอดเวลา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขารู้สึกว่าเงินเดือนที่คุณให้มันน้อยเกินไป การจะมองหาทีใหม่ก็เป็นทางออกที่เหมาะสม ซึ่งถ้าคุณไม่อยากประสบปัญหาต้องคอยรับสมัครพนักงานบ่อยๆ การเพิ่มเงินเดือนจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างได้ผลแน่นอน
3. สวัสดิการไม่ตอบโจทย์
นอกจากเงินเดือนแล้ว ตัวพนักงานเองก็อยากจะได้สวัสดิการที่ตอบโจทย์อย่างเหมาะสม เพราะนี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะ ทำให้องค์กรนั้นน่าสนใจและควรคู่แก่การร่วมงาน ซึ่งสวัสดิการที่พนักงานชื่นชอบส่วนมากจะเป็นในเรื่องของค่าเดินทาง ค่าล่วงเวลา วันหยุดเพิ่มเติม การทำงานนอกสถานที่ การยืดหยุ่นในเวลาทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้พนักงานรุ่นใหม่สะดวกสบายและรู้สึกดีกับการทำงานในองค์กรของคุณ แต่กลับกันถ้าคุณเอาเปรียบเขา ไม่ให้เงินล่วงเวลา บังคับให้มาทำงานตรงเวลาเสมอ ไม่สนใจผลของงาน ดูแค่ว่าเขามาสายแค่ไหนอย่างเดียว แบบนี้พนักงานจะรู้สึกไม่แฟร์ และมองว่าองค์กรของคุณไม่ใช่องค์กรในแบบที่เขาต้องการ
4. ไม่มีโอกาสเติบโตเลย
การเติบโตในหน้าที่การงานเป็นหนึ่งในสิ่งที่พนักงานเงินเดือนฝันใฝ่ เพราะเขาทำงานเพื่อต้องการเงินเดือนเยอะ ๆ ต้องการตำแหน่งหน้าที่ที่มากขึ้น ซึ่งมันเปิดโอกาสการเรียนรู้และหนทางสู่อนาคตที่ดีกว่าให้กับเขา ถ้าเขามองไม่เห็นโอกาสเติบโตที่ชัดเจน ก็พร้อมที่จะไปทันที ซึ่งคุณต้องให้โอกาสกับพนักงานคนเก่า ๆ ที่ทำงานกับคุณมานานก่อน ให้เขาได้พิสูจน์ตัวเอง หรือมีเส้นทางที่กำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเติบโตและพัฒนาของเขา ถ้าอยากให้เขาอยู่กับคุณนาน ๆ
5. การทำงานไม่ตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน
เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอด และยิ่งส่งผลกระทบหนักในทุกวันนี้ เพราะการทำงานระหว่างคนต่างเจนเนอเรชั่นกัน จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งไลฟ์สไตล์ ทั้งรูปแบบการทำงาน ทั้งหน้าที่ ความรับผิดชอบ และการดำเนินงานต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น คนรุ่นเก่าจะทำงานกันแบบอนาล็อก เน้นการนัดประชุมเป็นสำคัญเพื่อแลกข้อมูลข่าวสาร และต้องมาทำงานอย่างตรงเวลา ห้ามขาด ลา มาสาย
แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่จะมองว่านั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลย เขาสามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้โดยทำให้งานเสร็จลุล่วงด้วยดี เขาอาจจะมาช้าสักหน่อย แต่ก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำงานที่เน้นสะดวกสบายออนไลน์เป็นหลัก ก็ทำให้เขาทำงานง่ายขึ้น ซึ่งถ้าองค์กรของคุณไม่เอื้ออำนวยกับการทำงานของเจนใดเจนหนึ่งก็อาจทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นลาออกได้
6. หัวหน้าบริหารงานไม่เป็น
สุดท้ายแล้วปัญหาทุกอย่างที่คนหลายคนทยอยลาออก อาจมาจากคุณแค่เพียงคนเดียวก็ได้ เช่น คุณเป็นคนบริหารงานไม่เป็น มอบหมายงานให้คนที่ไม่ถนัดไปทำ จัดการบริหารเวลาไม่ลงตัว ไม่เคยไปคลุกคลีการทำงานของลูกน้อง ไม่เคยเข้าใจปัญหาที่แท้จริง ซึ่งนิสัยทั้งหมดนี้จะทำให้คนใกล้ชิดคุณทนไม่ไหว และพากันลาออก ยิ่งปล่อยไว้นานยิ่งทำร้ายองค์กรของคุณ
เพราะฉะนั้นสำรวจตัวเอง ตั้งแต่ตอนนี้เพื่อไม่ให้เหตุผลนี้เป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจ ให้พนักงานในองค์กรของคุณลาออก