7 สัญญาณอันตรายที่บอกว่าธุรกิจคุณกำลังจะแย่


SMEs ทุกคนต้องเคยพบทั้งความรุ่งเรืองและวิกฤตธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ชั่วโมงบินยังน้อย ก็อาจมีความเสี่ยงในเงินลงทุนสูงกว่านักธุรกิจที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ฉะนั้นเพื่อป้องกันปัญหาและเพื่อรักษาธุรกิจ ศึกษาสัญญาณเตือน 7 ข้ออันตรายของธุรกิจเอาไว้ให้ดี

7 สัญญาณอันตรายของธุรกิจ

1. ไม่สามารถจ่ายค่าบิลต่าง ๆ ได้

ทุกคนรู้ดีว่าสิ่งสำคัญของธุรกิจคือเงินสด การที่ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องของเงินสด จะช่วยให้ธุรกิจก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง แต่หากผู้ประกอบการไม่มีเงินสดสำรองเพื่อนำมาจ่ายเงินเดือน, ค่าบิลหรือแม้แต่ให้ตัวเอง ธุรกิจนั้นก็คงอยู่ไม่ยืดอย่างแน่นอน

หมั่นเช็คสภาพคล่องทางการเงินให้ติดเป็นนิสัย ลำดับความสำคัญในการจ่าย ต้องจ่ายใคร, จ่ายยังไง, ใครยังไม่ต้องจ่าย ต้องสำรองเงินไว้เท่าไหร่ สามารถตัดค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่ไม่สำคัญออกไปได้บ้างและต้องส่งใบแจ้งหนี้ออกไปหาลูกค้าทันที เพราะลูกค้าจะไม่ยอมจ่ายค่าบิลจนกว่าจะได้รับมัน

2. ยอดขายต่ำดิ่งลงเหว

ถ้าบริษัทของคุณไม่สามารถทำยอดขายได้ สิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นความล้มเหลวทางธุรกิจ อย่ายึดติดกับความสำเร็จในอดีต เพราะถึงแม้ว่าคุณจะเคยทำมันได้ดีแค่ไหน แต่ปัจจุบันยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องหรือหายไปอย่างฉับพลันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าธุรกิจนี้กำลังประสบปัญหาครั้งใหญ่

อย่าวิตกกังวลจนเกิดเป็นความเครียดสะสม แต่จงคิดหาทางแก้ไขปัญหา กลับไปมองที่ภาพรวมของบริษัทว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เช่น ปัญหาเรื่องพนักงาน, การตลาด, สินค้าและลูกค้า เช่น ลูกค้าของคุณกำลังถูกคู่แข่งแย่งไป ซึ่งต้องเร่งตรวจสอบถึงสาเหตุของปัญหา และแก้ไขให้ไวให้ตรงจุดที่สุด

3. Turnover Rate ของพนักงานสูง

เจ้าของธุรกิจทุกคนย่อมรู้ดีว่า “พนักงาน” คือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ในทางกลับกันหากบริษัทของคุณมีการเข้า ๆ ออก ๆ ของพนักงานในอัตราสูง คงเป็นเรื่องน่าปวดหัวและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอยู่ไม่น้อย นอกจากนั้นมันยังแสดงว่าบริษัทของคุณไม่มีความมั่นคงอีกด้วย

ลองเปรียบเทียบปัญหาเรื่องพนักงานกับคู่แข่ง เช่น คุณจ่ายค่าจ้างเหมาะสมกับศักยภาพของพนักงาน เท่ากับธุรกิจคู่แข่งของคุณรึปล่าว ให้เวลาทำงานและกำหนด KPI พวกเขาชัดเจนมั้ย ซึ่งต้องกลับมามองที่ตัวเองด้วยว่าคุณมีทักษะและรูปแบบการบริหารแบบไหน คุณเป็นหัวหน้าที่ตัวคุณเองอยากจะทำงานด้วยหรือไม่ มันอาจถึงเวลาที่คุณจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการตั้งเป้าหมายและการทำงานให้สอดคล้องกับพนักงานรุ่นใหม่ ๆ

4. มองไม่เห็นคู่แข่ง

การมองไม่เห็นคู่แข่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ฟังดูแล้วอาจเข้าข้างตัวเองอยู่ไม่น้อย เพราะการมองเห็นคู่แข่งนั้นจะเป็นการพิสูจน์ให้คุณรู้ว่าคุณอยู่ Position ไหนของตลาด

หลายบริษัทที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน นิยมปรับใช้เทคโนโลยีให้ทันรสนิยมและกลุ่มผู้บริโภคในตลาด ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กต้องเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ลองตรวจเช็คธุรกิจของคุณอย่างละเอียด ว่าอยู่ตรงไหนของตลาดเพื่อก้าวให้ทันกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณ

5. มีขาใหญ่เข้ามาแชร์ตลาดเดียวกัน

ปัญหานี้สร้างวิกฤตให้กับ SMEs มาแล้วนับไม่ถ้วน เช่นร้านค้าปลีกรายใหญ่เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อทั้งบนตลาดออฟไลน์และออนไลน์ หรือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้ธุรกิจไซส์เล็กสู้ไม่ไหวจนล้มหายตายจากไป

มันถึงเวลาแล้วที่นักธุรกิจต้องริเริ่มคิดค้นสิ่งใหม่ อย่าเชื่อเด็ดขาดว่าลูกค้าจะซื้อของเราเพียงเพราะเขาเป็นลูกค้าประจำ ค้นหาวิธีเปลี่ยนสินค้าหรือการบริการของคุณให้ดูน่าสนใจกว่าพวกขาใหญ่เหล่านั้น เช่น เน้นไปที่การสร้างแบรนด์ที่แตกต่าง ออกแบบสินค้า, บริการให้มีคุณภาพและ Storytelling ให้ลูกค้าสัมผัสได้จากหัวใจว่าของคุณมีคุณค่ามากกว่าที่พวกเขาจะไปหาซื้อแบบนี้ได้จากแบรนด์ขาใหญ่

6. ธุรกิจโตไวเกินไป

หลายคนอาจเข้าใจว่าการเติบโตทางธุรกิจที่เร็วนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่โตขึ้นเร็วเกินไปจะทำให้ยากต่อการบริหารและในเรื่องของการหมุนเงินทุน โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องสำรองจ่ายเงินจำนวนมากก่อนที่จะได้รับเงินนั้นกลับคืนมา อีกส่วนสำคัญคือจะพนักงานอาจรู้สึกว่าพวกเขาทำงานหนักเกินไป ซึ่งสิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นความเครียด

ผู้ประกอบการควรคิดอย่างรอบคอบและศึกษาถึงข้อมูลทางการเงินจากแหล่งเงินทุนหลาย ๆ แห่ง หรือมองหา Partner จากหลายๆส่วนเพื่อคอยช่วยสนับสนุน เช่น เมื่อมีออร์เดอร์มาเยอะก็ควรแบ่งงานให้ Outsource ช่วยแบ่งเบา เพราะเมื่อคุณพยายามจะช่วยตัวเองแต่เมื่อถึงคราวฉุกเฉิน ทั้งเรื่องเงินและเรื่องงานก็อาจจะยากเกินแก้ไข

7. ธุรกิจอยู่ในความสับสนเวียนวนต่อเนื่อง

หากธุรกิจของคุณประสบปัญหาเรื่องเดิม ๆ หรือเรื่องนี้จบเรื่องใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอด จนทำให้คุณต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถกกันเรื่องปัญหาแทนที่จะหันมาสร้างธุรกิจให้เติบโต แสดงว่าธุรกิจกำลังพบวิกฤตจากการที่ตัวคุณเองไม่สามารถบริหารหรือจัดการมันได้

ค่อย ๆ คลายไปทีละปมและต้องชัดเจนทั้งกับตัวเองและผู้อื่น (พนักงาน, พาร์ทเนอร์, ลูกค้า) มองหาสาเหตุว่าอะไรทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น คุณกำลังเครียดจากการโหมทำทุกอย่างด้วยตัวเองรึปล่าว เช่น มุ่งพัฒนา, ขายสินค้าหรือบริการมากไป, คุณล้มเหลวกับการบริหารเวลาและจัดลำดับความสำคัญหรือไม่ เพราะการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องเริ่มจากการจ้างงานหรือหาคนให้คำปรึกษาเพื่อวิเคราะห์ถึงต้นตอจนนำไปสู่วิธีการหาทางออก