การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมืออีกครั้ง
ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปี ประเทศไทยมีวิกฤตต้มยำกุ้ง ภาพจำที่ยังชัดเจนคือหลายธุรกิจล้มกันระเนระนาด วันนี้นักวิชาการประเมินไว้ว่ารุนแรงกว่าเดิมประมาณ 4 เท่า แล้วระลอก 2 หนักกว่าเดิมในแง่มุมของการตลาด ระลอกแรกทุกคนยังมีความสนุก ไม่ว่าจะเป็น การเอาสินค้าขึ้นไปขายบนออนไลน์, สนุกที่จะซื้อของออนไลน์, ฝากร้าน, ตัดผมเอง มีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามากมาย แต่การระบาดระลอก 2 ในมุมของการตลาด คือผู้บริโภคไม่มีความสนุก เมื่อไม่มีความสนุกก็จะไม่มีการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มเติมขึ้น ทำให้การระบาดครั้งที่ 2 มีความอันตรายร้ายแรงในมุมมองของการตลาด และธุรกิจเศรษฐกิจมากทีเดียว
“เราประเมินว่า 64 ยังไงก็ไม่ฟื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำธุรกิจ และเน้นนักท่องเที่ยวอยู่ เพราะยังไงนักท่องเที่ยวก็กลับมาปี 64 นี้ไม่ได้ สิ่งที่เราต้องคุยกันวันนี้คือเราจะปรับตัวกันอย่างไร ไม่ให้จม หรือติดกับดักบางอย่าง” ดร.เอกก์ กล่าว
ดร.เอกก์ แนะนำให้ผู้ประกอบการ SME ต้องปรับตัวในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก นี้ โดยแบ่งออกเป็น 5 วิธีด้วยกัน
1.ลดต้นทุน (Cost)
ย้อนกลับมาดูว่าธุรกิจสามารถลดต้นทุนอะไรได้บ้าง เช่น เรื่องสินค้าคงคลังในสต็อกมีมากน้อยแค่ไหน, พื้นที่ภายในสำนักงาน หากมีการ Work Form Home ก็ควรปิดชั้นนั้น ซึ่งจะช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่น ๆ อีกมากมาย, แต่ก่อนเคยเปิดเครื่องจักรอยู่ 2 เครื่อง เปลี่ยนมาเป็นใช้เครื่องจักรตัวเดียว และผลิตให้หนักกว่าเดิม ผลลัพธ์ออกมาเหมือนเดิม
2.เก็บเงินสด (Cash)
ปัจจุบันนี้ คือ Cash is king การมีเงินสดจะช่วยให้เกิดความอุ่นใจ หันไปดูสินค้าคงคลังว่าของที่ตุนเอาไว้ถึงเวลาที่ต้องนำออกมาโละหรือยัง เพราะหากรอกลุ่มลูกค้ากลับมาอาจจะไม่ทันการณ์อีกต่อไป ตลอดจนอะไรก็ตามที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ให้ควรทำ เพื่อจะได้มีเงินสดเก็บเอาไว้ในช่วงที่มีปัญหา หรือจะเป็นทุนขยายธุรกิจในอนาคต
3.อย่าทำลายเครดิตตัวเอง (Credit)
ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการ SME ไม่ควรเสียเครดิต เช่น ชะลอการจ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์ที่ซื้อสินค้า หากดำเนินการแบบปกติจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้เครดิตจริง ๆ ก็จะไม่มีเหลือให้ใช้ ควรเก็บเครดิตไว้ใช้ตอนมีปัญหา ไม่ควรนำออกมาใช้ในตอนนี้
4.หาเพื่อนไว้มากๆ (Collaboration)
ในเวลานี้บางทีทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว พอไม่ได้ดั่งใจก็ไปทำลายความสัมพันธ์ ผู้ประกอบการ SME หลายรายอารมณ์เสีย เพราะเงินไม่เข้า บานปลายไปต่อว่าลูกน้อง หุ้นส่วน สุดท้ายยังไม่ได้แก้ปัญหาให้กับลูกค้า แต่เกิดปัญหาภายในองค์กรขึ้นมา ทำให้ไปต่อไม่ได้ เสียเพื่อน เสียทีม ดังนั้น เราต้องระมัดระวังเรื่องนี้ให้ดี
5. ลูกค้ากลายพันธุ์ (Customer mutation)
ช่วงที่ผ่านมา พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน หากลูกค้าไม่อยู่แล้วอย่าฝันลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเขาจะกลับมาง่าย ๆ เช่น เราคุยถึงนักท่องเที่ยวที่หายไป และกลับมายากมาก หากกลับมาเงินในกระเป๋าก็ไม่ได้มากเหมือนเดิม ใครที่ทำธุรกิจ สินค้าท่องเที่ยว สร้างแบรนด์ให้มีมูลค่าแพง อาจจะไม่ใช่คำตอบในเวลานี้
อีกทั้ง ลูกค้าเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม โดยผู้ประกอบการ SME ควรรู้จักคำว่า “Pro Sumer” ซึ่งหมายความว่าลูกค้าเริ่มกลายพันธุ์มาผลิตของหลายอย่างด้วยตัวเอง เช่น ทำอาหาร, ตัดผม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ คือเงินที่ลูกค้าจะนำไปใช้ในกิจกรรมดังกล่าวก็จะลดลงตามไปด้วย ผู้ทำธุรกิจในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ดังนั้น ฝ่ายการตลาดควรสื่อสารกับผู้บริโภคให้รู้ถึงข้อดี-ข้อเสีย ระหว่างทำด้วยตัวเอง หรือใช้บริการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการเหมือนแต่ก่อน