“สื่อไร้สาย มหันตภัยใกล้ตัว”


เมื่อเทคโนโลยีเติบโตไม่หยุดยั้ง การสื่อสารเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆจึงเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับการติดต่อพูดคุยกันทั้งกลุ่มที่รู้จักกันมาก่อนหรือแม้แต่กลุ่มที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยก็ตามและเมื่อได้เริ่มมีการพูดคุยหรือทำกิจกรรมที่สนใจเรื่องเดียวกันร่วมกัน จึงทำให้เกิดเครือข่ายในการติดต่อสื่อสารและได้แลกเปลี่ยน ข้อมูลกันในทันทีโดยผ่านสื่อไร้สายหรือโทรศัพท์มือถือจนกลายเป็นสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนั่นเอง สื่อโซเชียลมีเดียจึงมีอิทธิพลมากในชีวิตของคนในสังคม ทั้งใช้เพื่อศึกษาข้อมูลบ้างหรือใช้เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวในสังคมบ้าง และก็มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี ซึ่งบางครั้งถูกนำเสนอออกไปโดยไม่ผ่านการคัดกรองดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดมีเหตุอะไรขึ้นสื่อชนิดนี้จะแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู้พฤติกรรมเลียนแบบตามมาอย่างที่เราเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ จึงทำให้เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าสังคมไทย

ปัจจุบันเมื่อใช้สื่อชนิดนี้แล้วจะสามารถแยะแยะได้หรือไม่และจะมีวิธีแยกแยะอย่างไร ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สังคมควรให้ความสนใจหาวิธีป้องกัน ก่อนจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในอนาคต โดยปัจจัยที่ทำให้คนเกิดพฤติกรรมอยากแสดงออกและพยายามเผยแพร่ให้สังคมรับรู้มากขึ้น ซึ่งมาจากการขยายตัวของสื่อโซเชียลมีเดียที่มีมากและเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างกรณีการแสดงพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่แสดงความคึกคะนองมากขึ้น และใช้ความรุนแรงไม่ต่างจากวัยรุ่นชาย สะท้อนให้เห็นว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสังคม ที่ทำให้คนกล้าเปิดเผยการกระทำมากขึ้น ทั้งนี้ จะเห็นว่ากรอบทางวัฒนธรรมของสังคมไทยในปัจจุบัน มีความหละหลวมไม่เหมือนเมื่ออดีตที่มีกรอบคอยคุมพฤติกรรมคนในสังคมอยู่ แต่เมื่อการแสดงออกสมัยนี้มีความเป็นอิสระ ทำให้ความรู้สึกอดกลั้นที่อยู่ภายในถูกเปิดเผยออกมากลายเป็นความรุนแรง และนำมาระบายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ในสังคมที่เยาวชนมักมีการแสดงความคิดเห็นอย่างสุดโต่ง สุดขั่วออกมามากขึ้น ประกอบกับรู้สึกว่ามีผู้สนับสนุนที่มาจากผู้ชมหรือจำนวนผู้เข้ามาถูกใจ จึงยิ่งทำให้ผู้ที่แสดงออกทางสื่อนั้นยิ่งโพสต์ออกมามากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ ข้อมูลกรมสุขภาพจิตยังบ่งชี้ว่า

โดยเฉพาะวัยรุ่นมีโอกาสแสดงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง ประกอบกับปัจจุบันรูปแบบในสังคมที่เปลี่ยนไป โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาความรุนแรงในกลุ่มเด็กใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวน้อยลงรวมกลุ่มกันมากขึ้น รับรู้สิ่งแวดล้อมนอกครอบครัวเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อวิธีคิด การใช้ชีวิต ภาวะทางอารมณ์ การยับยั้งชั่งใจ จึงทำให้น่าเป็นห่วง

ปัจจุบันยังพบอีกว่าพฤติกรรมเด็กไทยมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงก้าวร้าวมากขึ้น เพราะพบการกระทำความผิดของกลุ่มเยาวชนจากเดิมมีเกณฑ์ถูกดำเนินคดีช่วงอายุ 16-18 ปี แต่ในปัจจุบันอยู่ช่วงอายุ 12 ปี โดยไปเกี่ยวข้องทั้งยาเสพติด ความรุนแรง และข่มขืน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยปัจจัยหนึ่งมาจากสื่อออนไลน์ ที่สามารถให้เยาวชนระบายออกทางอารมณ์ได้อย่างเปิดเผย โดยขาดการวิเคราะห์ไตร่ตรอง และไม่มีผู้ใดตักเตือน จึงทำให้ปัจจุบันมักจะเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ของเยาวชนแสดงออกมามากขึ้นและพร้อมที่จะขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วเพื่อนำไปสู่การกระทำในลักษณะอื่นที่สุ่มเสี่ยง สำหรับการแก้ปัญหาการใช้สื่อของวัยรุ่นที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมคงต้องร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายโรงเรียน ครอบครัว สังคม ควรอธิบายให้เยาวชนเข้าใจถึงการใช้สื่อได้อย่างถูกต้องว่าอะไรดีและไม่ดี และจะต้องทำให้รับรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้น และภาครัฐควรหาพื้นที่ให้เยาวชนได้ออกมาทำกิจกรรมให้มากขึ้น ไม่ควรให้เยาวชนอยู่แต่ในโซเชียลมีเดียอย่างเดียว

ดังนั้น สถาบันครอบครัวจึงต้องดูแลควบคุมพฤติกรรมของบุตรหลานให้มากขึ้น ไม่ควรเลี้ยงลูกด้วยสื่อเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อเด็กสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่อยู่ในโลกออนไลน์ที่มีทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดีได้เองแล้วก็อาจำทำให้ยิ่งยากเกินกว่าจะควบคุม อีกทั้งถ้าหวังใช้กฏหมายในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเดียวก็คงจะไม่มีประโยชน์ จึงควรแก้ปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่ภายในครอบครัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตจะดีกว่า  

ที่มาข้อมูล นิตยสารกรมสรรพากร ฉบับที่ 56 เดือน มกราคม 60