วิจัยเผยผู้สูงวัยไม่ตกเทรนด์ ชอบเล่น Line รู้จักใช้ Google


ในช่วงเวลาที่ประเทศไทย มีการพูดถึงกระแสสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) อย่างกว้างขวาง กล่าวคือ ผู้สูงอายุ หรือ คนที่มีอายุตั้งแต่ 60 หรือ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ซึ่งข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) คาดการณ์ว่า ปี ค.ศ. 2050 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจากปัจจุบัน โดยมีจำนวนกว่า 2,000 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 21 ของประชากรโลก

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2568 ทำให้กระแสต่างๆ หันมาสนใจเทรนด์การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน  9.4 ล้านคน  คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร  โดยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน  และคาดว่าภายใน ในปี 2568  ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)  ซึ่งจะมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน  หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล  ได้ทำการวิจัยการตลาดกับกลุ่มผู้สูงอายุ 55-70 ปี จำนวน  604 คน พบว่าสื่อที่มีการใช้งานมากที่สุด   3 อันดับแรก ในกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่   

อันดับ 1  แอปพลิเคชันไลน์ (Line)  จำนวนร้อยละ 50  

เนื่องจากใช้งานง่ายในการติดต่อสื่อสาร โดยเมื่อเจาะลึกถึง Insight พบว่า เมื่อผู้สูงอายุอ่านเนื้อหาที่ชื่นชอบ จะใช้การส่งสติ๊กเกอร์แทนการพิมพ์ข้อความตอบโต้ เนื่องจากไม่ถนัดในการพิมพ์ทีละตัวอักษร

อันดับที่ 2  โทรทัศน์ จำนวนร้อยละ 24  

สื่อโทรทัศน์ถือเป็นสื่อดั้งเดิมที่ยังคงมีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 61 เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนช่อง  และเปิดไว้เป็นเพื่อนเพื่อคลายเหงา

อันดับที่ 3  Facebook  จำนวนร้อยละ 16 

โดยผู้สูงอายุมองว่า Facebook นั้น ใช้งานยากกว่า Line เวลาจะแชร์ข้อมูลให้ผู้อื่นต่อก็ไม่แน่ใจว่าจะกดปุ่มใดต่อ ต้องกดหลายครั้ง ต้องพึ่งพาคนอื่นให้ช่วยสอนการใช้หลายครั้ง ทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากที่จะใช้ Facebook มากนัก เนื่องจากไม่อยากเป็นภาระต่อผู้อื่น 

ด้านรูปแบบโฆษณาที่เข้าถึงคนวัยสีเงินได้มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่  

1. โฆษณาทีวี (TVC)  

2.  วิดีโอคลิป   

3.  รูปภาพ   

4. บทความ

และ 5. Infographic  

นอกจากนี้ด้านประเภทเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มผู้บริโภค Silver Age พบว่า 4 ประเภทเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มคนวัยสีเงินมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่

เนื้อหาประเภท  สาระประโยชน์ จำนวนร้อยละ 61% ที่ให้ประโยชน์ เช่น การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ อาหารการกิน และข้อมูลที่ยกระดับคุณภาพชีวิตต่างๆ   

เนื้อหาประเภท  บันเทิง จำนวน ร้อยละ 22% เช่น ละคร รายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาสนุกสนานและมีความหลากหลาย รวมถึงคลิปที่มีเนื้อหาตลกคลายเครียด  อันดับสาม เนื้อหาประเภท เตือนภัยและข้อควรระวัง ร้อยละ 9% เนื้อหาที่เน้นด้านความห่วงใย การเตือนภัย และข้อควรระวังต่างๆ  

และสุดท้าย เนื้อหาประเภท สร้างแรงบันดาลใจ ร้อยละ 8% ที่มีเนื้อหาช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต

อย่างไรก็ตามในด้านสื่อที่ผู้สูงอายุเข้าถึงการรับโฆษณาได้น้อยที่สุด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ ถือเป็นสื่อที่ผู้สูงอายุไม่สนใจอ่านหน้าโฆษณา เนื่องจาก ตัวอักษรมีขนาดเล็ก อ่านยาก และไม่น่าสนใจ  ตามมาด้วย ยูทูป (YouTube) ที่ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกขัดอารมณ์เมื่อมีโฆษณาขึ้นมาคั่นรายการที่ตนกำลังรับชมอยู่ และสุดท้ายได้แก่ เว็บไซต์  เนื่องจากไม่กล้ากดเข้าไปดูเพราะกลัวอุปกรณ์จะติดไวรัส

สำหรับประเด็นเรื่องการแชร์ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ ทีมวิจัยยังพบว่าพบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะแบ่งปันข้อมูลให้คนสนิทรวมถึงเพื่อนๆ ถึงร้อยละ 65  ผ่านช่องทาง Line  การพูดคุยบอกต่อกับเพื่อนฝูง  และ ช่อทาง Facebook  นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นคือพบว่า ผู้สูงอายุ 93% รู้จักว่า Search Engine คืออะไรและใช้งานอย่างไร  และการใช้งานเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูล  Search Engine ที่ผู้สูงรู้จักมากที่สุด ได้แก่ Google