วิจัยชี้ชัด! คนง่วงกลางวันบ่อยๆ เสี่ยงสมองเสื่อมเร็ว


พนักงานออฟฟิศคงมีอาการคล้ายๆ กัน คือจะรู้สึกง่วงนอนเมื่อถึงช่วงเวลาบ่ายของการทำงาน ซึ่งจากการศึกษาของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยจอนห์ฮอปกินส์ พบว่า ผู้มีอาการง่วงนอน และงีบหลับกลางวันบ่อยๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะสมองเสื่อมได้ถึง 3 เท่า

กรมสุขภาพจิต ได้อ้างอิงข้อมูลจากรายงานการศึกษาวิจัยของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอนห์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร The journal of SLEEP เมื่อ 6 กันยายน 2018 พบว่าคนที่ประสบภาวะง่วงนอนในช่วงเวลากลางวัน และแอบงีบบ่อยๆ มีผลทำให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือมีความผิดปกติในการสร้างโปรตีนเบต้าอไมลอยด์ (Beta-amyloid protein) บริเวณเนื้อเยื่อของเซลล์ประสาทเกิดเป็นกลุ่มแผ่น (Plaques) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าโปรตีนตัวนี้มีความสัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม โดยจะมีสัดส่วนเกิดปัญหาในกลุ่มเสี่ยงเป็นสามเท่าของคนทั่วไป

สำหรับผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้เป็นอาสาสมัครจำนวน 123 ราย โดยกลุ่มตัวอย่างจะตอบแบบสอบถาม และได้รับการสแกนสมอง แยกตามเพศ อายุ การศึกษา และดัชนีมวลกาย ผลปรากฏว่ากลุ่มเสี่ยงที่ประสบปัญหาง่วงนอนในระหว่างวัน/ช่วงเวลาทำงาน และงีบหลับได้อย่างรวดเร็วบ่อยๆ ในภาพการสแกนสมอง พบกลุ่มแผ่นของโปรตีนเบต้าอไมลอยด์รอบๆ เนื้อเยื่อของเซลล์ประสาทมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่มีปัญหาภาวะง่วงระหว่างวัน/ในเวลางาน โดยพบสัดส่วนในอัตรา 2.75 เท่า ซึ่ง Prof. Dr. Adam P.Spira หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้ถือว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการศึกษาก่อนหน้านี้ของสถาบันผู้สูงอายุในบัลติมอร์

ทั้งนี้ การวิจัยในครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า การง่วงนอนในเวลางานและแอบงีบหลับเป็นเรื่องพักสมองแล้วล่ะก็ ข้อมูลใหม่นี้อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของท่านได้ หากท่านไม่ต้องการเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมเร็ว ต้องหาทางป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ โปรดหากิจกรรมอื่นๆ มาแทนการงีบหลับ