รู้จัก “ฉลากเขียว” เครื่องหมายช่วยสะท้อนความยั่งยืนของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อม
ฉลากเขียวของประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD)
ครม.เห็นชอบ Roadmap จัดการขยะพลาสติก ตั้งเป้าเลิกใช้ถุงหิ้วแบบบาง กล่องโฟม แก้วพลาสติก หลอดดูด ในปี 65
ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณปีละ 2 ล้านตัน หรือร้อยละ 12 ของปริมาณขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่การนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ใหม่ประโยชน์ใหม่มีเพียงปีละ 0.5 ล้านตันเท่านั้น เนื่องจากระบบการจัดการขยะพลาสติกของไทยไม่รองรับกับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะ
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ครม. จึงเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ.2563-2565 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 โดยร่างแผนปฏิบัติการนี้มีเป้าหมายที่สำคัญประกอบด้วย
เป้าหมายที่ 1 การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 100 ภายในปี 2565 ได้แก่
1.ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
2.กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมโฟมที่ใช้กันกระแทกในอุตสาหกรรม
3.แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน
4.หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา และผู้ป่วย
เป้าหมายที่ 2 การนำพลาสติกเป้าหมายกับไปใช้ประโยชน์สู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพลาสติกเป้าหมาย ภายในปี 2565 ได้แก่
1.ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP)
2.บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/LDPE)
3.ขวดพลาสติกทุกชนิด
4.ฝาขวด
5.แก้วพลาสติก
6.ถาด กล่องอาหาร
7.ช้อน ส้อม มีด
สำหรับมาตรการที่สำคัญของแผนปฏิบัติการประกอบด้วย
1.มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยออกแบบการผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณสารพิษในผลิตภัณฑ์ และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2.มาตรการลดเลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค โดยเสริมสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการบริโภค ด้วยการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้
3.มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะ ส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลพลาสติก
ประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนปฏิบัติการนี้ คือ
1.ลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี
2.ประหยัดงบประมาณจัดการขยะได้ 3,900 ล้านบาทต่อปี
3.ประหยัดพื้นที่การฝังกลบและจำกัดขยะมูลฝอยพลาสติกได้ 2,500 ไร่
4.นำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1.2 ล้านตัน