เช็คด่วน! สัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่า พนักงานในทีมกำลังมีปัญหาขัดแย้ง และวิธีจัดการเบื้องต้น


เป็นเรื่องธรรมดาที่พอมีหลายคนมาอยู่รวมกันมักจะเกิดช่วงเวลาที่ขัดแย้งบ้าง เพราะแม้แต่ครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่เราเติบโตมาด้วยกันยังมีช่วงที่กระทบกระทั่ง แน่นอนว่า คนที่อยู่ภายในทีมต้องรู้สึกถึงปัญหาความขัดแย้งภายในทีมที่เกิดขึ้น แต่หัวหน้า หรือเจ้านายจะทำอย่างไร ให้รับรู้ได้ถึงสัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่า พนักงานในทีมของคุณกำลังมีปัญหาขัดแย้งกัน และจัดการเบื้องต้นให้ถูกวิธี กลับมาสามัคคีกันดังเดิม วันนี้เรามีคำตอบมาฝากให้ได้ลองไปเช็คกัน

สัญญาณที่บอกว่า พนักงานกำลังมีปัญหาขัดแย้งกัน

หากคุณเดินเข้าไปถามตามปกติว่า กำลังมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่รึเปล่า แน่นอนว่า คุณจะได้รับคำตอบว่า ไม่มี เพื่อตัดบทให้จบไป แต่ปัญหาเหล่านั้นมักไม่จบ เพราะยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี สิ่งที่คุณควรทำคือ สังเกตจากพฤติการณ์เหล่านี้

1) สีหน้าท่าทาง
ภาษาทางกาย อย่างสีหน้าท่าทาง บางครั้งก็พูดความจริงมากกว่าคำพูดที่ออกจากปาก วิธีการสังเกตดูได้ง่ายๆ จากสีหน้าท่าทางเมื่อพูดถึงภายในทีม หรือเวลาที่ต้องอยู่ทำงานร่วมกัน ไม่อยากที่จะอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานๆ เมื่อมีเวลาว่างมักจะเดินหนีออกจากกัน ทั้งที่ปกติภายในทีมเดียวกันมักจะสนิทมากกว่าคนนอกทีม

2) เกิดการแบ่งก๊กแบ่งเหล่า
เวลาที่ต้องทำงาน หรือประชุมงาน คนที่เป็นเจ้านายอาจจะลองสังเกตดูก็ได้ว่า เมื่อทำงาน – ประชุม – นอกเวลาทำงาน มีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าหรือไม่ หากมีการจับกลุ่มยิบย่อยออกจากทีมตลอดเวลา และอาจเกิดภาวการณ์นินทากัน สิ่งเหล่านี้เริ่มแสดงสัญญาณให้เห็นแล้วว่า อาจเกิดความไม่สามัคคีกันภายในทีม

3) ผลงานด้อยคุณภาพลง หรือทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ
ต้องยอมรับว่า ในแต่ละวันแค่พนักงานทำงานและเดินทางก็เสียพลังงานชีวิตไปมากแล้ว ยิ่งถ้ามีเรื่องปัญหาความขัดแย้งภายในทีมมารบกวนจิตใจอีกก็ยิ่งลดพลังงานและแรงใจที่อยากจะทำงานให้ออกมาดีไปอีก อีกสิ่งที่สังเกตได้เลยคือ ผลงานมีคุณภาพที่ด้อยลง หรือทำงานบางอย่างได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

วิธีจัดการความขัดแย้งเบื้องต้น

หัวหน้า หรือ เจ้านายที่เก่ง ไม่ใช่มีเพียงแค่การบริหารงาน แต่ยังต้องบริหารคนและความสัมพันธ์ให้เป็น เมื่อเกิดความขัดแย้งที่คนภายในทีมอาจจะจัดการไม่ได้ ก็ควรที่จะจัดการความขัดแย้ง ด้วยวิธีการเบื้องต้นเหล่านี้

1) เรียกแต่ละฝ่ายมาคุย
สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ เรียกแต่ละฝ่ายเข้ามาคุยเป็นการส่วนตัว เพื่อให้ทราบถึงปัญหา และสาเหตุให้แน่ชัด พยายามรับฟังด้วยความใจเย็น เป็นกลาง แสดงให้ลูกน้องได้เห็นว่า เขาจะได้รับความเป็นธรรม และปัญหาเหล่านั้นจะถูกนำไปแก้ไขให้ดีขึ้น อย่าใช้อารมณ์ เพราะจะทำให้ปัญหาแย่ลง

2) ปรึกษาฝ่ายบุคคล
เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายในทีม คุณควรที่จะหาคนกลางที่มีความรู้ความเข้าใจในบุคคลและระเบียบข้อบังคับของบริษัทมาเป็นคนช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งเหล่านั้นดีขึ้น ขอแนะนำให้เลือก ฝ่ายบุคคล เพราะคนเหล่านี้จะมีความรู้และประสบการณ์การจัดการที่ดี

3) พูดคุยตกลงเพื่อจบปัญหา

เมื่อได้ทราบถึงปัญหา สาเหตุ และแนวทางวิธีแก้ไขปัญหาแล้ว ควรหาเวลาเหมาะๆ เรียกทุกคนภายในทีมมาพูดคุยตกลงกันเพื่อจบปัญหา พอได้ข้อสรุปแล้วก็นำข้อตกลงเหล่านั้นมาสร้างระเบียบป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งเหล่านี้เกิดขึ้นภายในอนาคตอีกต่อไป

4) หมั่นสร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดความรักและสามัคคีภายในทีม
สภาวะการทำงานที่ตึงเครียดอาจทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีภายในทีมบ้าง อย่าลืมที่จะคอยหากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อสร้างบรรยากาศดีๆ ให้เกิดความรักและความสามัคคีภายในทีม เช่น จัดปาร์ตี้/ออกทริปเปลี่ยนบรรยากาศ, ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม, จัดเวิร์คช็อปพัฒนาศักยภาพของทุกคนภายในทีม, จัดล้อมวงพูดคุยเรื่องต่างๆ บ่อยๆ ฯลฯ

แรงขับเคลื่อนองค์กร จำเป็นที่จะต้องใช้ความสามัคคี เพื่อดึงศักยภาพของพนักงานแต่ละคนให้ออกมาได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่าลืมใส่ใจและบริหารความสัมพันธ์ของคนในทีมให้ห่างไกลจากความขัดแย้งอยู่เสมอ เพราะบรรยากาศที่ไม่ดีภายในองค์กร เช่น เกิดการขัดแย้งทะเลาะกัน ฯลฯ อาจเป็นตัวบั่นทอนทำให้พนักงานแต่ละคนไม่มีความสุข รู้สึกหมดไฟ จนงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร