นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่าได้จัดทำ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ขึ้นเพื่อติดตามภาวะธุรกิจ SME รวมถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านบวกและลบที่มีผลต่อผู้ประกอบการขนาดย่อม รายไตรมาส โดยล่าสุด จากการสำรวจความเห็นของธุรกิจเกือบ 500 กิจการ โดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี(Relationship Management Center : RMC) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะปัจจุบันอยู่ที่ 41.1 ทรงตัวจากระดับ 40.9 ช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์ขณะนี้อยู่ในภาวะที่ไม่สดใสนัก เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่า 50 ซึ่งถือเป็นระดับปกติ โดยดัชนีความเชื่อมั่นทรงตัวระดับ 40-41 มาตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อน เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.2 จาก 58.4 ในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากธุรกิจมองว่ารายได้กิจการอาจไม่กระเตื้องขึ้นจากระดับปัจจุบัน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจชะลอการลงทุนและการจ้างงานในระยะต่อไปด้วย
หากพิจารณารายประเภทของธุรกิจ SME พบว่า กลุ่มธุรกิจบริการ มีดัชนีความเชื่อมั่นที่ระดับ 45.4 ตามมาด้วยกลุ่มค้าปลีกค้าส่งที่ 40.7 และกลุ่มธุรกิจการผลิตที่มีระดับดัชนีต่ำที่สุดที่ 38.4 ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจการผลิต มีระดับความเชื่อมั่นต่ำกว่ากลุ่มอื่นเนื่องจาก ผู้ผลิตต้องรับความเสี่ยงจากหลายปัจจัยพร้อมกัน ทั้งเรื่องยอดขาย ต้นทุนการผลิต แรงงาน วัตถุดิบ ภาวะการแข่งขัน การสต็อกสินค้า ฯลฯ ทำให้อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า กลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ส่งและธุรกิจบริการที่ปรับตัวระยะสั้นง่ายกว่า
ส่วนผลการสำรวจปัจจัยความกังวลที่มีผลต่อธุรกิจขนาดย่อมในเดือนมกราคม 2557 พบว่าผู้ประกอบการยกให้ “การเมือง” เป็นปัจจัยที่น่ากังวลที่สุด ร้อยละ 42.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.3 ในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ทิ้งห่างความกังวล “เศรษฐกิจในประเทศ” ที่ตามมาห่างๆ เป็นอันดับ 2 ที่ร้อยละ 27.4 ซึ่งถือเป็น ”ครั้งแรก” ที่ SME กังวลเรื่องการเมืองมากกว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศนับตั้งแต่เราสำรวจความเห็นมา 7 ไตรมาสติดต่อกัน
นายเบญจรงค์ กล่าวว่า “การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซ้ำเติมกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความวุ่นวายทางการเมือง กดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในกรุงเทพฯอยู่ที่ระดับ 38.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ส่วนภาคที่ยังมีระดับความเชื่อมั่นดีที่สุด คือภาคตะวันออก ที่ระดับ 48.5 เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากท่องเที่ยวและการส่งออกที่ฟื้นตัว ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ยังมีทิศทางที่ดี และไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเมือง”
ทั้งนี้ ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองว่า ธุรกิจ SME ควรบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้ พร้อมทั้งติดต่อคู่ค้าและธนาคารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบข้อมูลที่ทันสถานการณ์ที่สุดเพี่อการบริหารธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพเพราะปัจจัยการเมืองไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด และจะมีผลกระทบต่อธุรกิจในส่วนใดบ้าง