ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในปี 2557 การส่งออกน้ำมันรำข้าวของไทยจะยังคงให้ภาพแนวโน้มการเติบโตที่ดี ตามกระแสการตื่นตัวในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยอาจมีมูลค่าการส่งออกน้ำมันรำข้าวอยู่ที่ 1,600-1,700 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 10-12 ตลาดส่งออกหลักคือ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่การค้าข้าวของไทยเผชิญความท้าทายเป็นอย่างมาก อันส่งผลต่อปริมาณข้าวส่วนเกินภายในประเทศ ดังนั้น ช่องทางหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญและถือเป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทยได้อย่างยั่งยืนคือ การสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้าข้าว เพื่อทำให้ไทยมีจุดแข็งในการสร้างความแตกต่างให้กับข้าวไทยในเวทีโลก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออกให้กับข้าวไทย ในภาวะที่ไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบจำนวนมาก ซึ่ง “น้ำมันรำข้าว ” ก็นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี
ศักยภาพน้ำมันรำข้าวไทยสู่ตลาดโลก
“น้ำมันรำข้าว” นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวได้เป็นอย่างดี โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกข้าวและน้ำมันรำข้าวของไทยในปี 2556 จะเห็นได้ว่า ไทยมีปริมาณการส่งออกข้าวมากถึง 6.61 ล้านตัน แต่การส่งออกน้ำมันรำข้าวของไทยยังมีเพียงเล็กน้อยที่ 0.0271 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หากเปรียบเทียบในปริมาณการส่งออกที่เท่ากัน (1 ตัน) จะพบว่า น้ำมันรำข้าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวได้มากถึง 2.7 เท่า อันแสดงถึงความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนเล็กๆ ของข้าวคือ รำข้าว สู่การเพิ่มมูลค่าเป็นน้ำมันรำข้าวที่เป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด
น้ำมันรำข้าว นับเป็นหนึ่งในน้ำมันพืชของไทยที่มีการบริโภคทั่วไปภายในครัวเรือน ทั้งนี้ หากพิจารณาความต้องการบริโภคน้ำมันรำข้าวภายในประเทศที่แม้ว่าการบริโภคน้ำมันพืชบรรจุขวดของไทยเฉลี่ยในปี 2553-2555 จะพบว่า สัดส่วนการบริโภคน้ำมันรำข้าวมีเพียงร้อยละ 6 ของการบริโภคน้ำมันพืชบรรจุขวดของไทย แต่ตลาดน้ำมันรำข้าวยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยเป็นน้ำมันพืชพรีเมี่ยมที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สดใสตามกระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค (แม้ยังคงจำกัดเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง) ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่งานวิจัยเรื่องคุณประโยชน์ของน้ำมันรำข้าวจากนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความตระหนักและสนใจในประโยชน์จากน้ำมันรำข้าว อีกทั้งผู้ประกอบการขายตรงบางรายได้มีการชูสินค้าน้ำมันรำข้าวให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคมากขึ้น จึงส่งผลต่อการเติบโตของตลาดน้ำมันรำข้าวในประเทศ ดังสะท้อนได้จากการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารในปี 2556 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 97,430 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 14 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นร้านอาหารไทยและอาหารญี่ปุ่นที่ในบางเมนูมีการประกอบอาหารโดยใช้น้ำมันรำข้าว ตลอดจนผู้ผลิตอาหารประเภทขบเคี้ยวหันมาใช้น้ำมันรำข้าวเป็นส่วนประกอบมากขึ้น
สำหรับตลาดต่างประเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อสถานการณ์ตลาดข้าวภายในประเทศเผชิญความท้าทายอย่างมาก ทำให้ในปี 2555-2556 ผู้ประกอบการน้ำมันรำข้าวได้มีการปรับตัวเพื่อขยายตลาดส่งออกมากขึ้น ซึ่งนับเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างตลาดใหม่เพื่อช่วยหนุนธุรกิจข้าวไทย ประกอบกับความต้องการที่มีรองรับในตลาดต่างประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง เห็นได้จากในปี 2556 มูลค่าการส่งออกน้ำมันรำข้าวของไทยอยู่ที่ 1,490 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 มูลค่าการส่งออกน้ำมันรำข้าวของไทยอยู่ที่ 302.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.5 โดยประเทศคู่ค้าหลักคือ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
อนาคตน้ำมันรำข้าวไทย…แนวโน้มสดใส
ในระยะต่อไป ไทยควรเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ท่ามกลางจุดแข็งที่ไทยมีวัตถุดิบจำนวนมาก (หากพิจารณาถึงปริมาณวัตถุดิบในประเทศเพื่อนำมาผลิตน้ำมันรำข้าว เทียบกับกำลังการผลิตในปัจจุบันของไทย จะพบว่า ยังมีการผลิตน้ำมันรำข้าวในประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 7 ของกำลังการผลิตน้ำมันรำข้าวสูงสุดของไทย อันแสดงถึง ช่องว่างทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการจะสามารถขยายการผลิตออกไปได้อีกมาก) โดยการประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของน้ำมันรำข้าวผนวกกับเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ความสำเร็จของน้ำมันรำข้าวไทยไม่ใช่แค่เพียงกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่อาจต้องมีองค์ความรู้ และมีความสามารถในการทำตลาด รู้จักใช้ช่องทางต่างๆ ตลอดจนสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จัก เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งในปัจจุบันช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโฆษณาสมัยใหม่ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น กำลังเป็นที่นิยมและนับเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน องค์ความรู้ และเครื่องจักรที่ทันสมัย อาจเน้นช่องทางการวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ และโรงพยาบาล เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพระดับพรีเมี่ยม เนื่องจากคุณค่าทางโภชนาการของน้ำมันรำข้าว ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าน้ำมันนำเข้าราคาแพงอย่างน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันคาโนลา
ในอีกด้านหนึ่ง การสนับสนุนการใช้น้ำมันรำข้าวภายในประเทศ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ไทยมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าต่างๆ ได้ เพื่อทดแทนในกรณีที่วัตถุดิบประเภทอื่นขาดแคลน/มีราคาแพง หรือจำเป็นต้องนำเข้า อาทิ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม เป็นต้น แม้ว่าในทางปฏิบัติ การเลือกใช้วัตถุดิบอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นประเภทสินค้าที่ผลิต สูตร รสนิยมของผู้บริโภค ตลอดจนอำนาจซื้อของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2557 การส่งออกน้ำมันรำข้าวของไทยจะยังคงให้ภาพของแนวโน้มการเติบโตที่ดี ตามกระแสการตื่นตัวในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยอาจมีมูลค่าการส่งออกน้ำมันรำข้าวอยู่ที่ 1,600-1,700 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 10-12 และตลาดส่งออกหลักคือ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการบริโภคระดับครัวเรือนและธุรกิจร้านอาหาร นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่น นับว่ามีแนวโน้มเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจของไทย แม้ในปัจจุบันการส่งออกน้ำมันรำข้าวของไทยไปญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนไม่มาก แต่ในระยะถัดไป คาดว่าน้ำมันรำข้าวจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและคุณค่าทางอาหาร จึงนิยมบริโภคน้ำมันรำข้าวอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รักสุขภาพ ร้านอาหาร และภัตตาคาร โดยนำไปปรุงอาหารจะได้รสชาติและความหอมที่ดี เช่น ทงคัตสึ เทมปุระ เป็นต้น จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการขยายตลาดส่งออกไปยังญี่ปุ่นมากขึ้น