ปี’57 ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนเผชิญความท้าทาย


ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนในปี 2557 น่าจะยังคงเผชิญความท้าทาย จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในครึ่งปีแรก และจากการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือดโดยการเข้ามามีบทบาทของสายการบินโลว์คอสต์            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในภาคขนส่งผู้โดยสารทางถนน (ณ ราคาปีปัจจุบัน) ในปี 2557 จะมีมูลค่า 137,300-139,700 ล้านบาท โดยอยู่ในกรอบหดตัวร้อยละ 0.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.2 จากปี 2556 ที่มีมูลค่าประมาณ 138,000 ล้านบาท

ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารของไทยที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ เนื่องมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และจากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ อาทิ การเติบโตของความเป็นเมือง จากการขยายตัวเศรษฐกิจภูมิภาค ทำให้เกิดเมืองเศรษฐกิจใหม่ที่มีความน่าสนใจ การเติบโตของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 98.0 ล้านคน ในปี 2552 เป็น 150.51 ล้านคน ในปี 2555 และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางอากาศ เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจสายการบิน และการขยายตัวของการท่องเที่ยว ที่ส่งผลให้สนามบินบางแห่งมีความแออัด จึงได้มีการปรับปรุงพัฒนาสนามบินต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 

ทั้งนี้ โครงสร้างการขนส่งผู้โดยสารส่วนใหญ่นั้นเป็นการขนส่งทางถนน ดังจะเห็นได้จาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในภาคขนส่งผู้โดยสารทางถนน (ณ ราคาปีปัจจุบัน) ในปี 2556 ที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 61.2  เมื่อเทียบจีดีพี ในภาคขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด ทั้งนี้ เนื่องมาจากโครงสร้างพื้นฐานทางถนนของประเทศไทยได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

 

ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนครึ่งปีหลังของปี 2557… ทยอยฟื้นตัว

                ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยค่อนข้างชะลอตัว ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในภาคขนส่งผู้โดยสารทางถนน ในไตรมาสแรกของปี 2557 หดตัวร้อยละ 0.76  อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางอากาศนั้นกลับไม่ได้รับผลกระทบ ดังจะเห็นได้จาก จำนวนผู้โดยสารสายการบินโลว์คอสต์ภายในประเทศที่เดินทางมาใช้บริการยังสนามบินดอนเมือง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 มีจำนวนกว่า 6.93 ล้านคน เติบโตกว่าร้อยละ 31.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

                สำหรับธุรกิจขนส่งผู้โดยสารในครึ่งปีหลัง คาดว่า จะมีการฟื้นตัวดีขึ้น โดยน่าจะขยายตัวสูงกว่าในครึ่งปีแรก เนื่องจากความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ รวมถึงนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีการจัดขึ้นตลอดทั้งปี ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย และเป็นปัจจัยสำคัญให้ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยในปี 2557 จะสามารถสร้างรายได้ท่องเที่ยวมูลค่า 7.25 แสนล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในภาคขนส่งผู้โดยสารทางถนน (ณ ราคาปีปัจจุบัน) ในปี 2557 จะมีมูลค่า 137,300-139,700 ล้านบาท โดยอยู่ในกรอบหดตัวร้อยละ 0.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.2 จากปี 2556 ที่มีมูลค่าประมาณ 138,000 ล้านบาท

 

ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนยังคงเผชิญความท้าทายจากหลากปัจจัย

การขนส่งผู้โดยสารทางถนนแบ่งเป็น การขนส่งผู้โดยสารทางถนนโดยรถโดยสารประจำทาง และการขนส่งผู้โดยสารทางถนนโดยรถโดยสารไม่ประจำทาง ทั้งนี้ พบว่า ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารโดยรถโดยสารไม่ประจำทางมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี ในภาคขนส่งผู้โดยสารทางถนน (เฉพาะรถโดยสารไม่ประจำทาง) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 34.8 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 37.1 ในปี 2556 ซึ่งปัจจุบันรถโดยสารไม่ประจำทางเข้ามามีบทบาทในการเดินทางในระยะสั้นๆ การท่องเที่ยวในลักษณะเป็นหมู่คณะ หรือด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะกิจ อาทิ การทัศนศึกษา ประชุมสัมมนา และการท่องเที่ยวของกรุ๊ปทัวร์จากต่างประเทศ เป็นต้น โดยจากสถิติจำนวน รถจดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 พบว่า มีรถโดยสารไม่ประจำทางจดทะเบียนสะสม จำนวน 42,195 คัน ขยายตัวกว่าร้อยละ 26.5 จาก ณ สิ้นปี 2553 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 33,346 คัน อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความชัดเจน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจรถโดยสารไม่ประจำทาง ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตามองภาคการท่องเที่ยวในครึ่งปีหลังที่น่าจะเติบกว่าในช่วงที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องจากในไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วง High Season ของธุรกิจท่องเที่ยว

ในขณะที่ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารโดยรถโดยสารประจำทาง นั้น กลับมีแนวโน้มลดลง ดังจะเห็นได้จาก จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด ประจำปีงบประมาณ 2555 มีจำนวน 10.11 ล้านคน ลดลงร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2551 ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะ รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 ชนิดพิเศษ หรือรถ ม1 (ประกอบด้วย รถวีไอพี 24 ที่นั่ง, รถวีไอพี 32 ที่นั่ง และรถ ป1) และรถโดยสาร 2 ชั้นปรับอากาศชนิดพิเศษ หรือรถ ม4ก (รถวีไอพี 2 ชั้น 24 ที่นั่ง) (ซึ่งความหมายในที่นี้จะขอใช้คำว่ารถทัวร์วีไอพีและรถ ป1)  ในเส้นทางหมวดที่ 2 (เส้นทางเชื่อมกรุงเทพมหานครกับภูมิภาค) ซึ่งมีอัตราค่าตั๋วโดยสารอยู่ในระดับบน ก็พบว่ามีในทิศทางที่ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน โดยจำนวนผู้โดยสารรถทัวร์วีไอพีและรถ ป1 ที่มาใช้บริการ ณ สถานีขนส่งกรุงเทพทั้ง 3 แห่ง อันได้แก่ สถานีขนส่งกรุงเทพ(เอกมัย),สถานีขนส่งกรุงเทพ (จตุจักร) และสถานีขนส่งกรุงเทพ (บรมราชชนนี) มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2555 มีจำนวนผู้โดยสารเพียง 34.19 ล้านคน ลดลงกว่าร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับในปีงบประมาณ 2553 สอดคล้องกับจำนวนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศพิเศษ (รถ ม1) จดทะเบียนสะสม ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ที่มี จำนวน 3,569 คัน เติบโตเพียงร้อยละ 1.7 จากปี 2554 

                ทั้งนี้ จากจำนวนผู้โดยสารของรถทัวร์วีไอพีและรถ ป1 ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ธุรกิจรถรถทัวร์วีไอพีและรถ ป1 ซึ่งเป็นรถโดยสารประจำทางที่มีอัตราค่าโดยสารอยู่ในระดับบนกำลังเผชิญ โดยคาดว่า อาจจะเกิดจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการเดินทางมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา อาทิ

             ผู้โดยสารหันไปเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โครงสร้างทางรายได้ของประชาชนสูงขึ้น และมีกำลังซื้อรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากจำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนใหม่ในปี 2556 มีจำนวนกว่า 0.92 ล้านคัน เติบโตกว่าร้อยละ 95.7 เมื่อเทียบกับปี 2553  โดยสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้โดยสารหันไปเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากการเดินทางโดยรถทัวร์ยังมีช่องว่างด้านความตรงต่อเวลาของเที่ยวรถ และความสะดวกสบายที่น้อยกว่า

             การเติบโตของธุรกิจรถตู้โดยสาร ซึ่งมีความคล่องตัว และสามารถทำเวลาในการรับส่งผู้โดยสารได้ดีกว่า

             การเข้ามาในตลาดของสายการบินโลว์คอสต์ ซึ่งมีระดับราคาค่าโดยสารที่ใกล้เคียงกันกับรถทัวร์ ส่งผลให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น

 

ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนระหว่างประเทศ… โอกาสที่น่าจับตามอง

                การที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 นี้ น่าจะส่งผลให้เกิดการเดินทางระหว่างกันภายในภูมิภาค เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านธุรกรรมการค้า การลงทุน และเพื่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ซึ่งเป็นตลาดการท่องเที่ยวใหม่ และยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก นอกจากนี้ รัฐบาลของกลุ่มประเทศดังกล่าวก็ได้มีการปรับภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย 

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ โดยตั้งอยู่กึ่งกลางภูมิภาคอาเซียน และมีพรมแดนติดกับกลุ่มประเทศ CLM จึงนับว่าเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีความร่วมมือด้านการผ่อนคลายกฎระเบียบ ขั้นตอนทางศุลกากร และการผ่านแดน เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า และผู้โดยสารระหว่างอนุภูมิภาค อาทิ ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cross Border Transport Agreement: GMS CBTA) ซึ่งความคืบหน้าปัจจุบันประเทศสมาชิกเห็นชอบให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ 2 ฝ่ายหรือ 3 ฝ่าย ในจุดผ่านแดนที่สำคัญก่อนเท่านั้น เรียกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Initial Implementation of the CBTA) หรือบันทึกความเข้าใจ IICBTA ซึ่งเป็นการดำเนินการตามความตกลง CBTA เฉพาะจุดผ่านแดนที่มีการลงนามแล้ว ซึ่งได้แก่ จุดผ่านแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขต (MOU-IICBTA ไทย-สปป.ลาว) และจุดผ่านแดนมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และแดนสะหวัน-ลาวบาว (MOU-IICBTA ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม) และจุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต (MOU-IICBTA ไทย-กัมพูชา) โดยได้อนุญาตให้รถโดยสารสามารถวิ่งผ่านแดนระหว่างกันได้ นอกจากนี้ ยังมี ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างไทย-ลาว พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลทำให้ยานพาหนะของไทยและลาวสามารถเดินทางเข้าไปในดินแดนของอีกฝ่ายได้ และ ข้อตกลงสปป.ลาว-ไทย-เวียดนามในการดำเนินการขนส่งทางถนนเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งลงนามไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดทั้ง 3 ฝ่าย จึงยังไม่มีการเปิดการเดินรถ

จากความตกลงฉบับต่างๆ จึงส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเดินรถประจำทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีความร่วมมือระหว่างกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทยอยเปิดเส้นทางการเดินรถระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศของบริษัท ขนส่ง จำกัด เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จาก 8 เส้นทาง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 เป็นเส้น 14 เส้นทาง ในปัจจุบัน โดยเป็นเส้นทางไปยังสปป.ลาว 12 เส้นทาง และเป็นเส้นทางไปยังกัมพูชา 2 เส้นทาง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายไปยังเมืองที่มีสำคัญทางเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง 

                อย่างไรก็ดี  แม้ว่าธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนระหว่างประเทศยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่หากยังคงต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ อาทิ 

  1. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนยังไม่มีผลครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค ส่งผลให้ปัจจุบันจึงมีเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศจากไทยยัง สปป.ลาว และกัมพูชา เท่านั้น 
  2. จำนวนรถโดยสารสำหรับการเดินรถในบางประเทศ และบางเส้นทางต้องเป็นไปตามโควต้าที่กำหนดไว้ในข้อตกลงซึ่งได้ลงนามไว้ร่วมกัน
  3. โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางถนนของประเทศเพื่อนยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนในสปป. ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเดินรถระหว่างไทยมากที่สุด โดยอุปสรรคดังกล่าวส่งผลให้ช่วงที่เดินรถในสปป.ลาวต้องใช้เวลามากกว่าปกติ
  4. การเดินรถโดยสารระหว่างประเทศ ต้องเผชิญกับการแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดกับผู้ประกอบการท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ อาทิ การแบ่งโควต้าวันในการเดินรถ เป็นต้น  

 

แม้ว่า ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนจะยังคงมีความสำคัญและมีสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งผู้โดยสารโดยรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีสัดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนของธุรกิจท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่น่าจับตามอง จากการที่ประเทศไทยมีพรมแดนติดต่อประเทศ CLM แต่ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารโดยรถโดยสารประจำทาง โดยเฉพาะธุรกิจรถทัวร์วีไอพีและ ป1 ซึ่งมีราคาค่าโดยสารอยู่ในระดับบนยังคงเผชิญความท้าทาย เนื่องจากภาวะการแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากการจัดโปรโมชั่นทางด้านราคาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน พร้อมทั้งยังมีการนำเสนอช่องการจัดจำหน่ายตั๋วโดยผ่านร้านสะดวกซื้อ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงการเดินทางทางอากาศได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง โดยเฉพาะรถทัวร์วีไอพีและ ป1 ก็ได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และการรักษามาตรฐานความปลอดภัย  แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในตลาดควรเร่งสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ โดยการพิจารณาเส้นทางการเดินรถใหม่ๆ ทั้งเส้นทางระหว่างจังหวัดที่มีศักยภาพทั้งระยะใกล้ และระยะไกล เส้นทางระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่มีความตกลงให้มีการเดินรถระหว่างกัน  การหาพันธมิตรธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งต่อลูกค้าระหว่างกัน หรือหากในกรณีที่ผู้ประกอบการรายใดมีความพร้อมก็อาจจะเข้าไปดำเนินการลงทุนเดินรถในประเทศ CLMV ซึ่งตลาดการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศเหล่านั้น ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก อย่างที่ได้มีผู้ประกอบการไทยรายใหญ่บางรายได้เตรียมเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา และเมียนมาร์แล้ว

นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจรถโดยสารประจำทาง อาทิ การพัฒนาสถานีขนส่งให้มีความพร้อมสามารถรองรับ และให้บริการผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเน้นการกำกับดูแลความปลอดภัยในกิจการเดินรถทัวร์ที่เคร่งครัด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสาร เป็นต้น 

โดยสรุป ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนยังคงมีโอกาส จากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะส่งผลให้เกิดการคมนาคมเดินทางระหว่างภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การสร้างพันธมิตรขนส่งผู้โดยสารทางถนนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในการส่งต่อผู้โดยสารระหว่างกันอาจเป็นสิ้งที่ควรพิจารณา เนื่องจากความตกลงว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารข้ามแดนยังคงเผชิญข้อจำกัดบางประการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการแก่ผู้โดยสารให้ครอบคลุมยิ้งขึ้น และเป็นการขยายตลาดขนส่งผู้โดยสารให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ท้ายที่สุด สิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงที่สุดสำหรับของธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร คือการให้บริการโดยยึดหลักความปลอดภัย และสวัสดิภาพของผู้โดยสารเป็นสำคัญ