เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี’57 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
ตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นล่าสุดในไตรมาส 2/2557 ลดลงที่ร้อยละ 6.8 (Annualized, SA) จากที่ขยายตัวไปถึงร้อยละ 6.1 (Annualized, SA) ) ในไตรมาส 1/2557 เนื่องจากการขึ้นภาษีการบริโภค (Consumption Tax) ในเดือนเมษายน เป็นร้อยละ 8 จากร้อยละ 5 กระทบการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนให้หดตัวร้อยละ 19.2 และร้อยละ 9.7 (Annualized, SA)
แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอลงหลังการปรับขึ้นภาษีการบริโภคในเดือนเมษายน แต่ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจแสดงสัญญาณการฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่
-
การทยอยฟื้นตัวของภาคการบริโภคในญี่ปุ่น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หลังจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภค จะมีการปรับเปลี่ยนการบริโภคได้ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาผลกระทบได้ โดยข้อมูลล่าสุดเริ่มสะท้อนภาพการฟื้นตัว อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม ที่เติบโตร้อยละ 0.5 (YoY) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.5 เป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.4 ในเดือนสิงหาคม (ตัวเลขเบื้องต้น) ขณะเดียวกันยอดการสั่งซื้อเครื่องจักร (Machinery Orders) ก็สะท้อนก็สะท้อนการฟื้นตัวในภาคธุรกิจ ว่าดีขึ้น เพื่อรองรับอุปสงค์ที่อาจจะทยอยฟื้นคืนกลับสู่ภาวะปกติ
-
ทิศทางการส่งออกของญี่ปุ่นที่น่าจะมีโอกาสเติบโตในครึ่งปีหลังจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลัก และทิศทางเงินเยนที่อ่อนค่า ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2557 มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นอยู่ที่ 5,998 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 3.9 (YoY) โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักสำคัญๆ อาทิ สหรัฐฯ และจีน ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯที่เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ในเดือนกรกฎาคม 2557 ญี่ปุ่นส่งออกไปยังสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 (YoY) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ชัดเจนขึ้น และตลาดจีนที่เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของญี่ปุ่น เติบโตร้อยละ 2.6 (YoY) หากแต่เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะยังชะลอการเติบโต รวมไปถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจเป็นแรงฉุดการส่งออกจากญี่ปุ่นไปจีนในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ปัจจัยด้านค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจะยังเป็นตัวช่วยให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นมีความได้เปรียบเชิงแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
-
ผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากปี 2556 น่าจะเป็นปัจจัยประคองภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาทิ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ “Economic Measures for Realization of Virtuous Cycles” ของรัฐบาลกลางราว 5.5 ล้านเยน โดยมีโครงการระยะยาวที่น่าสนใจ ได้แก่ การบูรณะความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2554 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเข้าสู่ระบบของแรงงานหญิง ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในครึ่งปีหลังให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก
จากปัจจัยสนับสนุนข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถประคับประคองการฟื้นตัวให้ขยายตัวได้ราวร้อยละ 1.4 ในปี 2557 (กรอบประมาณการ ร้อยละ 1.0 ถึง 1.7) ชะลอลงเล็กน้อยจากอัตราร้อยละ 1.5 ในปี 2556 ซึ่งเป็นมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวัง เนื่องจากยังคงมีความเปราะบางทางโครงสร้างของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ทำให้การขยายตัวไม่ได้มีอัตราสูงนัก
ส่งออกไทยไปญี่ปุ่นลุ้นภาพทั้งปีปรับตัวเติบโต
ถึงแม้ตัวเลขการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกจะสูงถึงร้อยละ 2.0 (YoY) จากการเร่งนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบก่อนการขึ้นภาษีบริโภค แต่ก็โดนแรงฉุดในไตรมาส 2/2557 ที่หดตัวถึงร้อยละ 4.9 (YoY) ซึ่งเป็นตัวฉุดการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นครึ่งปีแรกให้หดตัวลงร้อยละ 1.5 (YoY) ถึงแม้ว่าภาพการส่งออกในช่วงเดือน มกราคม – กรกฎาคม 2557 ยังมีภาพหดตัวต่อเนื่อง แต่มูลค่าการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นเดือนกรกฎาคมกลับขยายตัวเป็นเดือนแรกหลังหดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง สะท้อนทิศทางการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่น
ในช่วงครึ่งปีที่เหลือ ทิศทางการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นยังคงต้องจับตามองการฟื้นตัวของภาคการบริโภคในประเทศและทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของญี่ปุ่น โดยหากการบริโภคของญี่ปุ่นทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับการส่งออกฟื้นตัวตามเศรษฐกิจคู่ค้าหลักก็คาดว่าการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นก็น่าจะได้รับอานิสงส์ให้มีโอกาสกลับมาขยายตัวในทางบวกได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2557 นี้จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 0.5 มูลค่าส่งออกประมาณ 22,000 – 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 5.2 ในปี 2556
ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นคงจะติดตามเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพื่อประเมินว่าจะดำเนินการตามแผนการปรับเพิ่มภาษีอีกรอบในปี 2558 หรือไม่ รวมไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินหรือมาตรการอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินนโยบายต่างๆของทางการญี่ปุ่นย่อมจะส่งผลตามมาต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในระยะถัดไปอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหลายรายการเติบโตจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต ในขณะที่สินค้าเกษตรยังต้องจับตาการฟื้นตัวภาคการบริโภคญี่ปุ่น
แม้ว่าการปรับเพิ่มภาษีการบริโภค ซึ่งมีผลตั้งแต่ไตรมาส 2/2557 ยังมีผลต่อการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่น แต่ สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยและยังมีแนวโน้มเติบโต ได้แก่
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต สอดคล้องไปกับความต้องการสั่งซื้อเพื่อไปประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายรองรับการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังคู่ค้าในตลาดโลก โดยสินค้าที่เติบโตต่อเนื่องในช่วง 7 เดือนแรกของปี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ร้อยละ +45.07, YoY เม็ดพลาสติก ร้อยละ +30.72, YoY เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ร้อยละ +17.36, YoY ผลิตภัณฑ์ยาง ร้อยละ +15.72, YoY และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ร้อยละ +14.73, YoY เป็นต้น กระนั้น ยังต้องติดตามแนวโน้มความต้องการสินค้าญี่ปุ่นของประเทศคู่ค้า และยุทธศาสตร์การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการไทยในระยะถัดไป
ขณะที่สินค้าเกษตรกรรมและเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะ ไก่แปรรูป และ อาหารทะเลกระป๋อง รวมถึงแปรรูปอาหารทะเลแปรรูป มูลค่าการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 จะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกไก่แปรรูปและอาหารทะเลแช่แข็งของไทยไปญี่ปุ่นในไตรมาส 2/2557 อยู่ที่ร้อยละ 5.49 (QoQ) และ 2.14 (QoQ) ส่วนหนึ่งสะท้อนผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัดจากการขึ้นภาษี นอกจากนี้ ไก่สดแช่เย็น และแช่แข็งของไทย มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากการยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าของญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายปี 2556 รวมถึงราคาไก่สดแช่เย็น และแช่แข็งมีราคาที่ต่ำกว่าไก่แปรรูป ซึ่งอาจเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายการบริโภค อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกไทยยังต้องพิจารณาการตลาดในการตั้งราคาขาย เนื่องจากไก่สดแช่เย็น และแช่แข็งของไทยมีราคาค่อนข้างสูงในตลาดญี่ปุ่นหากเทียบกับบราซิลซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งออกไก่สดที่สำคัญ
นอกจากนี้ กรณีอาหารปนเปื้อนของจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของญี่ปุ่น อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าอาหารจากจีน รวมไปถึงความน่าเชื่อถือในสินค้าที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่สินค้าอาหารจากไทยจะเข้าสู่ตลาดอาหารญี่ปุ่นอีกทางหนึ่ง
โดยสรุปในช่วงที่เหลือของปี 2557 ผลจากภาษีบริโภคต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น อาจยังมีผลในหมวดสินค้าคงทน และหมวดสินค้าที่ผู้บริโภคเร่งซื้อไปล่วงหน้าก่อนการปรับขึ้นภาษีในเดือนเมษายน ดังนั้นความต้องการสินค้าไม่คงทนที่มีความจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีสัญญาณบวกขึ้น น่าจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนของญี่ปุ่นทยอยฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ เมื่อรวมกับการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่ยังมีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ตลอดจนเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบต่อเนื่องจากรัฐบาลกลาง ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก และมีผลให้ทั้งปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.4
ทั้งนี้ การประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น คาดว่าจะสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของไทยไปญี่ปุ่นในบางรายการสินค้ามีแนวโน้มเติบโตได้ และดันให้ภาพรวมการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีหลังพลิกกลับมาเป็นบวกจากที่ติดลบในครึ่งปีแรก ทำให้ภาพรวมทั้งปีการส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นอาจมีมูลค่าอยู่ที่ 22,000 –22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 0.5 (YoY)
สำหรับประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยควรจับตาและเตรียมการรับมือเพราะอาจมีผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นในระยะต่อไปนั้นจะยังคงอยู่ที่เส้นทางการฟื้นตัวของการบริโภคของญี่ปุ่น เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญทั้งจีนและสหรัฐฯ ประเด็นข้อพิพาทและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจมีผลต่อการค้าและการลงทุนของญี่ปุ่น ตลอดจนการปรับตัวของตลาดการเงินโลกจากผลของการสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างมาก (QE) ของสหรัฐฯในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งในทางอ้อมอาจมีผลต่อทิศทางค่าเงินเยนและค่าเงินบาท