“ซิป้า” ชูโรดแมปขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล


“ซิป้า” ชูโรดแมปขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า เปิดเผยถึงทิศทางนโยบายของซิป้าที่มีจุดยืนชัดเจนจะยืนหยัดอยู่คู่กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย โดยเดินหน้าสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตร ร่วมกัน เพื่อให้เกิดโรดแมปการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลตามนโยบายรัฐบาล โดยจะเดินหน้าไปตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ พ.ศ.2560 – 2563 ที่มีการปรับปรุงใหม่ให้สัมฤทธิผลโดยเร็วในลักษณะของการดำเนินงาน และการปฏิบัติงานเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งองค์กรของรัฐ และเอกชน ให้เกิดการเชื่อมโยงในนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไปพร้อมกันให้มีความทันสมัย ภายใต้โครงการSmart City ที่ให้บรรยากาศเอื้อต่อการลงทุน และนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆป้อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้เติบโตสู่เศรษฐกิจดิจิตอล

ทั้งนี้การดำเนินงานตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ซิป้ามีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์ มีการศึกษาข้อมูลแนวโน้มของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ โมบายแอพพลิเคชัน, คลาวด์คอมพิวติ้ง, โซเชียลมีเดีย และบิ๊กดาต้า เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเกิดใหม่ของเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปรวดเร็ว

โดยในปี 2559 ซิป้าได้รับงบประมาณ 290 ล้านบาท โดย ซิป้าได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงไอซีทีให้ดำเนินโครงการสำคัญในหลายมิติ อาทิ เป็นหน่วยงานนำร่องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และกำหนดให้มีโครงการสำคัญเพื่อกระจายรายได้อย่างทั่วถึงในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในระดับชุมชน และยกระดับผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรสายซอฟต์แวร์ เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยสำนักงาน มีการผลักดันส่งเสริมสนับสนุน ก่อให้เกิดการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยในประเทศมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนด้านความตระหนักในการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้าน Digital Content ซึ่งในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับ Digital Content กระจายไปทั่วภูมิภาคจำนวน 28 หลักสูตร 27 มหาวิทยาลัย