แบงก์ยอมรับดันเอสเอ็มอีใช้พรอมพ์เพย์ไม่ง่าย


ธนาคารกสิกรไทย ยอมรับว่า ความพยายามผลักดันให้ เอสเอ็มอี ลดใช้เงินสดและเข้าสู่ระบบพรอมพ์เพย์นั้น ยังเป็นเรื่องยาก เพราะการใช้เงินสดยังเป็นเรื่องสะดวก ขณะที่เช็คก็ยังเป็นที่นิยมเพราะมีเครดิตชำระยาวถึง 2 เดือน

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเกษตรในภูมิภาค ยังให้ความสนใจลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบพรอมพ์เพย์ ไม่มากนัก เนื่องจากยังคงเคยชินและรู้สึกสะดวกสบายกับการใช้เงินสด ดังนั้นความพยายามส่งเสริมให้เอสเอ็มอีในกลุ่มนี้ หันมาใช้ระบบชาระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การโอนเงิน แทนการใช้เงินสด เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

และผลตอบรับ ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวังไว้ แม้ธนาคารจะส่งทีมงานเข้าให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการชาระเงิน รวมถึงความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.  ในเรื่องบริการระบบชำระเงินสำหรับธุรกิจลานเกษตรพืชไร่ รวมทั้งการโอนชำระค่าผลผลิตให้ผู้ขาย ผู้รวบรวม และเกษตรกร เข้าบัญชีออมทรัพย์ของเกษตรกรที่ ธ.ก.ส. ก็ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

ดังนั้นการที่รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงิน พยายามผลักดันระบบชาระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือเนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ ซึ่งนำร่องโดย ระบบพรอมพ์เพย์ นั้น อาจไม่ได้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระเงินในประเทศอย่างรวดเร็ว และคงต้องใช้เวลาให้ร้านค้าคุ้นเคย และยอมรับระบบใหม่ เพราะหากร้านค้าไม่เปลี่ยนไปรับเงินผ่านระบบพรอมพ์เพย์ ผู้บริโภคก็ยังต้องถือเงินสดเช่นเดิม

ส่วนโครงการพรอมพ์เพย์ระยะที่ 2 ในกลุ่มนิติบุคคลนั้น ธนาคารมีแผนสนับสนุนให้การรับชาระเงินของธุรกิจหรือร้านค้า ลดใช้เงินสดเช่น การนำเครื่องรับบัตร หรือเครื่องอ่านบาร์โค้ดไปติดตั้งให้ หรืออาจจะจูงใจด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมการรับชาระเงินให้ แต่เชื่อว่า การที่ธุรกิจจะตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบชาระเงิน เป็นเรื่องความสบายใจและความเคยชินมากกว่า

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายยังเลือกชำระเงินแบบเช็ค เนื่องจากได้ประโยชน์จากเครดิตการชำระเฉลี่ยอยู่ที่ 15 วัน ถึง 2 เดือน ซึ่งสามารถนำกระแสเงินสดมาหมุนเวียนในธุรกิจได้ แม้มีต้นทุนมากกว่าอี-เพย์เมนต์ก็ตาม ในกลุ่มนี้จึงยังไม่เลิกการใช้เช็คในระยะเวลาอันสั้นนี้แน่นอน

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานปริมาณการใช้เช็คในระบบ ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาว่า มีปริมาณการใช้เช็คทั้งระบบทั้งสิ้น 5.9 ล้านใบ มีมูลค่ารวม 3.36 ล้านล้านบาท โดยปริมาณเช็คลดลงจากระยะเดียวกัน ปีก่อน 5.26 แสนล้านใบ หรือ 8.17% ตามความนิยมใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าเช็คเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 0.42%