คลังเล็งใช้ไฟแนนซ์จิ๋วสางหนี้นอกระบบ


คลังเล็งใช้ไฟแนนซ์จิ๋วสางหนี้นอกระบบ

รัฐเดินหน้าหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หลังพบว่านาโนไฟแนนซ์ ไม่เข้าเป้าแก้ปัญหาไม่ได้ จึงเตรียมปล่อยไฟแนนซ์จิ๋ว หรือ พิโค ไฟแนนซ์ โดย ปล่อยกู้ 5 หมื่น บาทต่อราย ดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี

ภายหลังจากที่/นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้นำทีมเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างถาวร โดยนายกรัฐมนตรีเห็นด้วย/ที่จะใช้อำนาจมาตรา 44 จัดการกับนายทุนปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยแบบขูดรีดสูงกว่า 15% ต่อเดือน ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุก

ขณะเดียวกัน ก็จะเปิดโอกาสนายทุนที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบเข้ามาในระบบด้วยการขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง จัดตั้ง พิโค ไฟแนนซ์ (PICO Finance) หรือไฟแนนซ์จิ๋ว โดยปล่อยกู้เพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 36 ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 4-5 หมื่นบาท หรืออาจขอใบอนุญาตจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท

ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อเพื่อประชาชนใช้บริโภคกรณีฉุกเฉิน หรือ พิโคไฟแนนซ์ โดยกำหนดวงเงินรวมสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี /ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนและนำไปแก้ไขหนี้นอกระบบได้เพิ่มขึ้น /ซึ่งเปิดให้เอกชนที่สนใจต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน/มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท เพื่อยื่นเรื่องขออนุญาตจากกระทรวงการคลังในการประกอบธุรกิจ ในขณะที่ นาโนไฟแนนซ์ ต้องมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ เชื่อว่า พิโค ไฟแนนซ์ จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินกู้นอกระบบที่สูงจนเกินควรได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนสามารถกู้ยืมเพื่อไปแก้ไขหนี้นอกระบบและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ /ต่างจากโครงการสินเชื่อ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย หรือนาโนไฟแนนซ์ ที่สนับสนุนการเข้าถึง แหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบอาชีพเท่านั้น