แบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อหมื่นล้านช่วย SME


สมาคมธนาคารไทย เตรียมปล่อยกู้ซอฟต์โลนลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ คิดดอกเบี้ย 4% วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้หมุนเวียน-ลงทุนใหม่ คาดเริ่มปล่อยเงินกู้ภายในสิงหาคมนี้

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้ สมาคมได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับสมาชิกสถาบันการเงินทุกแห่งเรียบร้อยแล้ว ในเรื่องการเข้าไปปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ตามนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) มีส่วนร่วมช่วยเหลือดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้มากขึ้น โดยทุกแบงก์ได้ตกลงร่วมกันจะปล่อย สินเชื่อซอฟต์โลน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี

สำหรับที่มาแหล่งเงินกู้จะเป็นเงินของทุกแบงก์ที่ร่วมโครงการ ส่วนเงื่อนไขการให้สินเชื่อจะให้กับเอสเอ็มอีรายใหม่ ที่ยังไม่เข้าถึงซอฟต์โลนโครงการใดเลย และมีวัตถุประสงค์การกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องธุรกิจ แต่ไม่ให้นำไป รีไฟแนนซ์วงเงินกู้เดิม

คาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนทุกแบงก์ที่ร่วมปล่อยกู้จะมีสัดส่วนเท่ากัน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ผ่านพ้นวิกฤตและพยุงตัวให้ผ่านภาวะนี้ไป ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

ด้านนายอุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือเคทีบี กล่าวว่า การออกซอฟต์โลน ครั้งนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีซึ่ง คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก เพราะดอกเบี้ยต่ำหากเทียบกับดอกเบี้ยเงินกู้เอสเอ็มอีปกติที่เฉลี่ย 5% ต่อปี ขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงไทยพร้อมร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและโครงการซอฟต์โลนธนาคารออมสินเพื่อให้เอสเอ็มอี ซื้อเครื่องจักรและปรับปรุงประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ธนาคารยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์สินเชื่อเอสเอ็มอีโครงการใหม่ชื่อ “กรุงไทย ใจดี ช่วยเอสเอ็มอี” ซึ่งมี 2 แบบ ได้แก่ สินเชื่อมีหลักประกัน ใช้สำหรับลงทุนและเป็นเงินหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.75% ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 4.5% กำหนดวงเงินสินเชื่อสูงสุด 55 ล้านบาท/ราย และสินเชื่อระยะเวลา 7 ปี ดอกเบี้ย 3.9% ต่อปี วงเงินสูงสุด 40 ล้านบาท/ราย ซึ่งใช้หลักประกัน 30% หรือไม่ต้องมี หลักประกันเพราะใช้บริการบรรษัทประกัน สินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งทั้ง 2 แบบ จะเริ่มให้ยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่เดือน ส.ค.ถึงสิ้นปี 2559 นี้เท่านั้น