ดัชนีผู้บริโภคเดือนก.ค.59 ดีขึ้น


ดัชนีผู้บริโภคเดือนก.ค.59 ดีขึ้น

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 7 เดือน หลังภัยแล้งคลี่คลาย ราคาเกษตรเพิ่ม น้ำมันลดต่อเนื่อง คาดกำลังซื้อคนไทยจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป หากเศรษฐกิจโลกไม่ผันผวน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐได้ผล

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนก.ค.59อยู่ที่72.5จากเดือนมิ.ย.ที่ 71.6 ถือว่าปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกของปี หรือในรอบ 7 เดือนขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันเท่ากับ 52.4 เพิ่มขึ้นจาก51.7ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต 80.5 เพิ่มขึ้นจาก79.5เนื่องจากปัจจัยเรื่องภัยแล้งคลี่คลายลง หลังฝนตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดมีกำลังซื้อดีขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ราคาน้ำมันยังลดลงต่อเนื่อง สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว แต่ยังเป็นแบบอ่อนๆ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามสถานการณ์อยู่ทำให้ประชาชนแม้จะเริ่มจับจ่ายใช้สอยแล้ว แต่ก็ยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม61.4เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.ที่ 60.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่67.4เพิ่มจาก66.5และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่88.7เพิ่มจาก87.6ซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้นในรอบปีนี้แทบทุกรายการ จึงถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเป็นรูปแอ่งกระทะแล้ว เพราะประชาชนคาดหวังว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้ รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งเร่งรัดเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ตามแผนที่วางไว้มากขึ้น หรือจะมีเงินเข้าสู่ระบบมากถึง 1500,000-200,000 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่าไตรมาส 4 เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะดีขึ้น หรือเติบโตได้เกิน 3%แต่ทั้งนี้ ขอดูสถานการณ์อีก 2-3 เดือนว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีจริงหรือไม่ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการเมือง โดยเฉพาะการลงมติร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 ส.ค.นี้ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งประชาชนและนักลงทุนต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งในปีหน้า

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเลยจุดฟื้นตัวมาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 2 และเดือนก.ค.นี้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบอ่อนๆ หรือรูปตัวยู เพราะประชาชนยังกังวลต่อปัญหาการเมือง แต่โดยภาพรวมแล้ว ส่วนใหญ่ยังมองว่า ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลก็ยังเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งตามโรดแม๊พที่วางไว้ เพียงแต่ ถ้ารับร่างฯ ภาพทุกอย่างก็ชัดเจน และเดินหน้าตามกระบวนการได้รวดเร็ว ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเพิ่มการลงทุนได้ต่อเนื่อง แต่หากไม่รับร่างฯ ก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกอย่างก็เดินหน้าช้าลงไป นักลงทุนก็จะหยุดและรอดูสถานการณ์ (เว็ต แอนด์ ซี) ทำให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจไม่คึกคักเท่าที่ควรตามไปด้วย