นักธุรกิจมั่นใจเศรษฐกิจไทยไปโลดหลังผ่านประชามติ


นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังลงประชามติรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ และเศรษฐกิจจะเติบโตถึง 4% ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเมินหรือไม่นั้น เชื่อว่า จะต้องมาจากองค์ประกอบหลายส่วน โดยเฉพาะด้านการลงทุน ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทย ความชัดเจนของกฎหมายลูกต่างๆ ที่ตามมา

เศรษฐกิจโลกที่เติบโตดี โดยรวมของเงื่อนไขต่างๆ เป็นบวก ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะเติบโตถึง 4% จากปัจจุบันเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ไว้ที่ 3-3.5% คงไม่ใช่แค่ปัจจัยจากรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ต้องมาจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ แต่ภาพรวมเป็นไปได้

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย กล่าวว่า เสียงของเอกชนส่วนใหญ่ มั่นใจว่า จะมีการเลือกตั้งหลังการลงประชามติในปี 2560 เหมือนเดิม และยังไม่มีความกังวลมากนัก ส่วนผลทางด้านเศรษฐกิจต้องดูหลังการเลือกตั้ง นอกจากนี้ได้สอบถามหอการค้าต่างประเทศแล้วพบว่า  ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า หากประเทศมั่นคง สงบเรียบร้อย ธุรกิจจะเดินไปอย่างต่อเนื่อง

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกรณีประชามติไม่ผ่านว่า จากผลประชามติที่ออกมาในลักษณะนี้อาจทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปได้จนถึงปี 2561 และประเมินว่ารัฐธรรมนูญฉบับต่อไปจะมีเนื้อหาใกล้เคียงกับฉบับเดิม และส่วนตัวคิดว่าจะไม่กระทบต่อภาวะซื้อขายหุ้นมากนักเพราะรัฐบาล และ ม.44 ยังอยู่เหมือนเดิม แต่คนอาจจะเริ่มสงสัยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงแรงสนับสนุนของรัฐบาลที่อาจลดน้อยลงจะมีนัยสำคัญหรือไม่หากเป็นเช่นนั้นอาจทำให้มีความเสี่ยงด้านการเมืองตามมาหรือไม่

ส่วนกระแสเงินทุนต่างประเทศนั้น ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรต่อไป แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพอย่างมาก สะท้อนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ทำให้เห็นว่า กำลังซื้อในประเทศยังมีอยู่ และนักลงทุนส่วนหนึ่ง จะมั่นใจว่าหากนำเงินมาลงทุนประเทศไทยโอกาสฟื้นก็ยังมี เพราะกำลังซื้อยังเหลือ  โอกาสถอยกลับไปก็คงยากเพราะตอนนี้กำลังซื้อเหลือมาก อีกทั้งทำให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่า