เอกชนชี้การลงทุนใหม่ เกิดหลังมีเลือกตั้ง


เอกชนชี้การลงทุนใหม่ เกิดหลังมีเลือกตั้ง

ผู้ประกอบการเอกชน ประเมินว่าการลงทุนใหม่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง พร้อมเสนอให้รัฐบาลเดินหน้า 4 ด้านกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างรอเลือกตั้ง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) กล่าวว่า กรณีร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนออกมาลงประชามติรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ส่งผลให้นักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นแต่เอกชนที่ดำเนินธุรกิจต่างมองข้ามประเด็นดังกล่าวไปแล้วเพราะสิ่งที่ต้องติดตามต่อคือการเลือกตั้ง ระหว่างนี้จะต้องรอเวลาอีกเกือบ 1 ปี ดังนั้นทิศทางการลงทุนใหม่ทั้งของไทยและต่างประเทศยังคงมองปัจจัยการเลือกตั้งมากกว่า

ระหว่างที่รอการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลจะมีเวลาบริหารประเทศประมาณ 1 ปีครึ่ง อยากให้รัฐบาลดำเนินดังนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

1.อยากให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอีกครั้งเช่นเดียวกับที่มีออกมาช่วงปลายปี 2558 เน้นใส่เงินเข้าไปในหมู่บ้าน ตำบล เพื่อให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก

อาทิ ซ่อมถนน พัฒนาหมูบ้าน เพราะมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดการจ้างงาน ทำให้เงินถึงมือประชาชนง่ายและตรงจุด

2.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สิ่งที่ดำเนินการมาแล้วอย่าให้ล้ม รัฐบาลควรดูว่าโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีคืบหน้าแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันธนาคารทั้งรัฐและเอกชนต่างปล่อยเกียร์ว่าง เข้มงวดกับเอสเอ็มอีรายย่อย เลือกปล่อยให้ขนาดกลางวงเงินระดับร้อยล้านเป็นหลักเพราะหลักประกันดีกว่า ส่วนรายย่อยจะเจออุปสรรคด้านเอกสารจนเกิดความท้อและไม่อยากกู้ในที่สุด

3.โครงการลงทุนของรัฐต้องทำให้ประสบความสำเร็จจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนของรัฐ ผู้ได้ประโยชน์หลักคือ กลุ่มทุนที่ชนะประมูล หากต้องการให้ประชาชนได้ประโยชน์มีเงินหมุนเวียนในระบบ ต้องมีการกำหนดในทีโออาร์ของผู้ชนะประมูลว่าต้องซื้อสินค้า อุปกรณ์ของเอสเอ็มอี ซื้อสินค้าในประเทศ เน้นจ้างงานคนไทย เพราะปกติกลุ่มทุนเหล่านี้จะเน้นความสะดวกด้วยการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์เกือบทั้งหมดเพราะมีมาตรการทางภาษีช่วยเหลือ

นอกจากนี้ในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ อยากให้รัฐบาลดูแลด้านผังเมือง เพราะปัจจุบันมีการเก็งกำไรทำให้คนระดับกลางไม่มีโอกาสเข้าซื้อ และผังเมืองของประเทศในภาพรวมควรมีการแบ่งสัดส่วนของอุตสาหกรรมและชุมชนให้ชัดเจน

4.รัฐบาลควรประเมินการทำงานของข้าราชการว่าประสบความสำเร็จตามที่รายงานหรือไม่ เพราะจากประสบการณ์ของเอกชนทราบดีว่าข้าราชการซึ่งเชี่ยวชาญในงานที่รับผิดชอบจะมีเทคนิคในการทำงานตามที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมาย อาทิ การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ(ร.ง.4) ข้าราชการระบุว่าดำเนินตามเวลาที่กำหนด ไม่ล่าช้า ทางในปฏิบัติเอกชนประสบปัญหาเรื่องความล่าช้าอยู่ เพราะข้าราชการจะมีการกรอกเลขรับเอกสารเมื่อดำเนินการแล้ว ไม่ได้กรอกจากวันที่เอกชนยื่นเอกสาร กรณีเหล่านี้หากรัฐบาลประเมินลงลึกจะพบการทำงานที่แท้จริงของข้าราชการ