แนะแผนค้าชายแดน ตั้งเป้า1.7 ล้านล้านบาท


แนะแผนค้าชายแดน ตั้งเป้า 1.7 ล้านล้านบาท

ประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านชง 3 ยุทธศาสตร์ดันค้าชายแดน แนะรัฐบาลเร่งผลักดันต่อไป โดยหากทำได้ตามแผน เชื่อว่าจะทำให้ยอดการค้าชายแดนและผ่านแดน เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.7 ล้านล้านบาทในปีนี้

นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เปิดเผยว่า จะเสนอแผน ยุทธศาสตร์การค้าชายแดน 3 ประเด็น คือ ขยายการอำนวยความสะดวกด้านการค้า เพิ่มปริมาณการค้า และเพิ่มกำลังซื้อ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน เร่งผลักดันต่อไป โดยหากทำได้ตามแผน เชื่อว่าจะทำให้ยอดการค้าชายแดนและผ่านแดน เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.7 ล้านล้านบาทในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 15% จากปี 58 ที่มีมูลค่าการค้าชายแดน 1.4 ล้านล้านบาท โดยปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นกว่า 300,000 ล้านบาทนั้น ค้าชายแดน 200,000 ล้านบาท และค้าผ่านแดน 100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าชายแดน 502,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.63% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมูลค่าผ่านแดน 73,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.69% รวมมูลค่า 576,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% ดังนั้น จึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันเพื่อให้การค้าชายแดนและผ่านแดนเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็วขึ้น เช่น ขยายมูลค่าสินค้านำเข้าติดตัว โดยไม่ต้องสำแดงทรัพย์สิน จากเดิมกำหนดวงเงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 7,000 บาท เพิ่มเป็น 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 35,000- 36,000 บาท อำนวยความสะดวกให้สินค้าบางชนิดเข้ามา อาทิ อนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อนุญาตให้รถบรรทุก 10 ล้อ จากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาในประเทศได้อย่างน้อยเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ ประเทศเพื่อนบ้าน อนุญาตให้รถบรรทุกของไทยเข้าประเทศได้ไกลกว่านั้นแล้ว ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ให้คึกคักขึ้น หากไทยไม่เปิดบ้าง ก็อาจจะเสียโอกาสไปและถ้าเปิด เศรษฐกิจบริเวณชายแดนฝั่งไทยก็จะคึกคักขึ้น มีร้านค้า ที่พัก รวมถึงการเปิดศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) ในพื้นที่อีกด้วย แต่ทั้งนี้ ก็ต้องหารือกับหลายหน่วยงาน ทั้งกรมการขนส่งทางบก กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ภาครัฐ จัดตั้งคณะทำงานส่งเสริม และแก้ปัญหาการค้าชายแดนเป็นคณะเดียว หรือกำหนดแต่ละประเทศไปเลยก็ได้ และให้กระทรวงพาณิชย์เป็นแกนหลัก เพื่อให้การแก้ปัญหาแต่ละจุด ทำได้ตรงจุด รวมทั้งสามารถขยายการค้าขายระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้พบว่า ความต้องการซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านยังมีจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ไทยยังค้าขายกับประเทศเหล่านี้ในสัดส่วนไม่สูงนัก คือกัมพูชา ค้าขายกับไทยคิดเป็นสัดส่วน 27% ของมูลค่าการค้ากัมพูชากับทั่วโลก ส่วนเมียนมามีสัดส่วน 33% มาเลเซีย สัดส่วน 7% ด้าน สปป.ลาว มากที่สุด 85%