ธุรกิจเรือสำราญ มีโอกาส แต่จุดอ่อนท่องเที่ยวไทยคือภาษา


ธุรกิจเรือสำราญมีโอกาส แต่จุดอ่อนท่องเที่ยวไทย คือเรื่องภาษา

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยเบื้องต้นในรอบ 4 เดือน เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ตามกรอบความร่วมมือ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ซึ่งงานวิจัยการศึกษาประเด็นเร่งด่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยว ธุรกิจเรือสำราญ ของประเทศไทย เบื้องต้นพบว่า การท่องเที่ยวเรือสำราญของภูมิภาคเอเชียเติบโตต่อเนื่อง สายการเดินเรือเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่วัยทำงานและครอบครัว เน้นเส้นทางการเดินเรือ 3-5 วัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำนวนเรือสำราญที่แวะพักตามท่าเรือต่างๆ ของประเทศไทยระหว่างปี 2558-2559 ได้แก่ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเกาะสมุย พบว่ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนท่าเรือภูเก็ต ที่เคยเป็นท่าเรือยอดนิยมอันดับต้นๆ ของเอเชีย กลับมีจำนวนเรือสำราญแวะพักลดลง ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายระหว่างท่องเที่ยวต่อคนต่อวัน 6,174 บาท ขณะที่งานวิจัยการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านทุนมนุษย์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของไทยพบว่า ภาพรวมบุคลากรทางการท่องเที่ยวมีจุดอ่อน คือ ทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ฉับไวในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และคุณภาพการบริการยังไม่ได้มาตรฐานสากล

ด้านนายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีผู้ประกอบการท่องเที่ยวหรือบริษัททัวร์ไม่ทำตามที่โฆษณาไว้ว่า นักท่องเที่ยวสามารถยื่นร้องเรียนและรับเงินค่าชดเชยจากกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว กรมการท่องเที่ยวได้ และขณะนี้กรมการท่องเที่ยว เตรียมหารือกับตำรวจท่องเที่ยว และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ตั้งสายสืบไซเบอร์ เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดของทัวร์ผิดกฎหมาย หรือบริษัททัวร์ที่กระทำผิดเงื่อนไขข้อตกลงกับลูกค้าผ่านสื่อออนไลน์ เว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก