“สรรพากร” ไล่เช็กบิล ฟรีแลนซ์-ยูทูบเบอร์ กวาดเข้าระบบภาษี


กรมสรรพากร เล็งดึงร้านค้าออนไลน์ ฟรีแลนซ์ ยูทูบเบอร์ เข้าระบบภาษี 5 แสนคน ย้ำ ผู้ที่ดำเนินธุรกิจทุกคนต้องเสียภาษีให้ถูกต้อง รอบใหม่เดือน มี.ค.64

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรเตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีในปี 2564 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการจัดเก็บภาษีที่ 2.085 ล้านล้านบาท โดยกรมจะเร่งขยายฐานการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ เนื่องจากยังมีผู้ที่ยังไม่ได้อยู่ในฐานภาษีอยู่จำนวนมาก

โดยเบื้องต้นสำรวจพบว่ามีผู้อยู่นอกระบบภาษีถึง 6 ล้านคน เช่น ฟรีแลนซ์ ผู้ มีอิทธิพล (อินฟลูเอนเซอร์) ยูทูบเบอร์ เป็นต้น ดังนั้น ในปี 2564 กรมสรรพากรจึงตั้งเป้าดึงผู้ที่อยู่นอกระบบเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีประมาณ 500,000 คน

“ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนจำนวนมาก ว่ากลุ่มฟรีแลนซ์ อินฟลูเลนเซอร์ และยูทูบเบอร์ ไม่เข้ามาสู่ระบบการเสียภาษี ดังนั้นกรมสรรพากรจึงเปิดระบบร้องเรียนขึ้นมา โดยจะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลตามที่มีคนแจ้งมาว่าบุคคลนั้นหรือผู้ทำธุรกิจมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยใช้ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งใช้ในการตรวจสอบการยื่นแบบภาษีที่ซ้ำซ้อนด้วย ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่ดำเนินธุรกิจทุกคน เข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งรอบใหม่คือเดือน มี.ค.64” นายเอกนิติ กล่าว

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า ส่วนในปี 2563 มีผู้อยู่ในระบบฐานภาษี 9.55 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 250,000 คน โดยจำนวนนี้ถึงเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำจำนวน 25,000 บาทต่อเดือนที่ต้องยื่นแบบภาษี จำนวน 3.3 ล้านคน และ 6.25 ล้านคนยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี

“ปัจจุบันคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์และไม่เข้าใจการเสียภาษี จึงไม่ได้เข้ามาเสียภาษีในระบบอีกมาก เช่น พ่อค้าอายุน้อยที่ขายเคสโทรศัพท์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ที่มีรายได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่เมื่อมีรายได้ถึง 10,000 บาทต่อเดือนควรยื่นแบบชำระภาษีทุกคนเพื่อเข้าสู่ระบบภาษี แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม”

ส่วนการจัดเก็บรายได้นิติบุคคล กรมมีแผนขยายฐานภาษีกลุ่มธุรกิจเช่นกัน เนื่องจากปีที่ผ่านมามีผู้ยื่นเสียภาษีเพียง 450,000 ราย ในขณะที่ฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ของกระทรวงพาณิชย์ มีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนจำนวน 600,000 ราย ดังนั้นในปีนี้จะดึงกลุ่มที่เหลือ 150,000 รายเข้ามาในระบบให้ได้ ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรได้เชื่อมข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไว้แล้ว

พร้อมกันนี้ กรมจะเตรียมแผนในการรักษาฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งมีสัดส่วนถึง 40% ของรายได้กรมสรรพากร ให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน เนื่องจากการบริโภคสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐอาทิ ช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การเก็บแวตเป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี ยอดจัดเก็บภาษีเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบ 2564 จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,000 ล้านบาท อยู่ที่ 107,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการเลื่อนการยื่นแบบชำระภาษีในปี 2563 จากเดิมจะต้องจ่ายในเดือนมี.ค.2563 ทำให้มีรายได้จากการชำระภาษีเข้ามาในช่วงเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น