ไทยแลนด์สุดเจ๋ง! เตรียมดัน “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” บุกครัวโลก


กรมทรัพย์สินทางปัญญางัดไม้เด็ด “ส่งมอบข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่ครัวโลก” หวังใช้เป็นต้นแบบดันสินค้าจีไออื่นสู่ตลาดโลก

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมลงพื้นที่แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ในกิจกรรม “ส่งมอบข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สู่ครัวโลก” พร้อมดันเป็นต้นแบบสินค้าตัวอย่างด้าน GI ชวนสินค้า GI อื่นๆ เดินรอยตามพร้อมสู่ตลาดโลก อนาคตจะขยายไปยังตลาดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

นายวุฒิไกร กล่าวว่า “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ที่มีศักยภาพ และถือเป็นต้นแบบสินค้า GI เป็นที่ยอมรับถึงคุณภาพมาตรฐาน มีชื่อเสียงไปไกลถึงสหภาพยุโรป ด้วยเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีความหอมที่โดดเด่นต่างจากข้าวชนิดเดียวกันที่ปลูกนอกพื้นที่ อีกทั้งยังคำนึงถึงการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล ทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ยังคงรสชาติ ความหอม อร่อยถูกใจผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมขยายตลาดไปจีนและมาเลเซีย โดยขณะนี้ได้ยื่นคำขอจดทะเบียน GI ในจีนและมาเลเซียแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำคำขอจดทะเบียน GI ในอินโดนีเซีย คาดได้ยื่นปีหน้า”

นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ และโรงสีในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี รวมทั้งกลุ่มศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด ได้พัฒนาองค์ความรู้วิธีการปลูกข้าว เพื่อให้ได้มาซึ่งข้าว GI คุณภาพ ที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนลดต่ำลง

รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่มีการนำแกลบ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ มาพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ตอบโจทย์เทรนด์ Zero Waste จนได้รับรางวัล Prime Minister Award ในหมวดสินค้าไทยที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) จากนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าการรวมกลุ่มผู้ผลิตสินค้า GI อย่างเข้มแข็งในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด สามารถเป็นชุมชนต้นแบบให้แก่ผู้ผลิตสินค้า GI ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ด้านนายสินสมุทร ศรีแสนปาง ผู้นำในการตั้งกลุ่มศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด เปิดเผยว่า การเปลี่ยนรูปแบบการทำนาจากวิถีดั้งเดิมที่ปลูกโดยการหว่าน จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 30 – 35 กิโลกรัมต่อไร่ มาเป็นรูปแบบการทำนาหยอดที่ใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 4 กิโลกรัมต่อไร่ จะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 320 กิโลกรัม เป็น 600 กิโลกรัม

โดยที่สินค้าดังกล่าวยังคงคุณภาพตามมาตรฐาน GI จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนได้อย่างมากและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้ ทางกลุ่มฯ มีแผนที่จะขยายกลุ่มผู้ผลิตตามแนวทางนาหยอดให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนต่อไป