มาตรการช่วยเหลือ SME บยส.ค้ำสินเชื่อ วงเงินรวม 175,000 ล้านบาท


ช่วยรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน! ครม.อนุมัติ มาตรการช่วยเหลือ SME ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ระยะที่ 9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ระยะที่ 4 วงเงิน 25,000 ล้าน บยส.ค้ำ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เริ่มบรรเทาลง ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางสาขาเริ่มส่งสัญญาณกลับมาฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก

โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ โดยสาเหตุสำคัญมาจากสถาบันการเงินยังไม่มั่นใจการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมองว่าผู้ประกอบการดังกล่าวยังมีความเสี่ยงในการชำระหนี้คืน

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.63 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึงและมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS9) วงเงินโครงการ 150,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SME วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อเป็นไปตามที่ บสย. กำหนด โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SME ปีละไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SME ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 42,500 ราย

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 (Micro 4) วงเงินโครงการ 25,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 500,000 บาทรวมทุกสถาบันการเงิน ค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการรายย่อยปีละไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการรายย่อยได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น มีสภาพคล่องที่เพียงพอและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป