ก.คลัง เผย รัฐบาลเหลืองบฟื้นฟูเศรษฐกิจสู้โควิด 6 แสนล้านบาท


อาคม แจง รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เผยยอดเงินกู้ฉุกเฉิน 1ล้านล้านบาท ยังเหลืออีก 6 แสนล้านบาท เล็งปรับโครงสร้างภาษีหลังพ้นวิกฤต คาดอีก 4 ปี ท่องเที่ยวฟื้นเป็นปกติ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “โควิด19 กับอนาคตเศรษฐกิจไทย 2021” ว่า ปัจจุบัน รัฐบาลยังมีเม็ดเงินที่เพียงพอเพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ในช่วงวิกฤตการแพร่ะระบาดของโควิด-19 โดยเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวมาจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท

โดยขณะนี้ส่วนหนึ่งได้แบ่งไปใช้ในด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท และมีการจ่ายเยียวยาประชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้ว 3-4 แสนล้านบาท โดยยังเหลือวงเงินอีก 5-6 แสนล้านบาท ที่จะเป็นกระสุนในการฟื้นฟูและดูแลเศรษฐกิจในกรณีที่โควิด-19 ยังไม่ยุติได้

สำหรับมาตรการด้านการคลัง ขณะนี้ต้องเน้นให้เกิดการใช้จ่ายเป็นสำคัญ โดยรัฐบาลได้กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ผ่านทางโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการช็อปดีมีคืน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการเงินมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. ที่หมดลง ได้มีการปรับเป็นการช่วยเหลือรายคน ให้ตรงจุดมากขึ้น ส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ คลังได้สั่งให้มีการขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกไปถึง มิ.ย. 2564

ทั้งนี้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ คาดว่าจะติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ หลังจากดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/2563 จีดีพีติดลบที่ 6.4% น้อยกว่าคาดการณ์ที่คาดว่าจะติดลบ 7-10% ส่วนปี 2564 คาดว่าจีดีพีจะกลับมาโตเป็นบวกได้ที่ระดับ 4-5%

ขณะเดียวกันแม้เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ในส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น คาดว่า จะกลับมาเต็ม 40 ล้านคนเหมือนภาวะปกติได้ ในอีก 4 ปี หรือปี 2567 เนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวนั้น คาดว่าจะใช้เวลานานกว่าการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามหลังสถานการณ์โควิด-19 ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างภาษี เพื่อให้สามารถรองรับการใช้จ่ายในอนาคตได้ เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี นั้น ส่วนใหญ่ 70% เป็นเรื่องรายจ่ายประจำ ซึ่งยากที่จะปรับลดลง ดังนั้นทางเดียวที่จะเพิ่มศักยภาพเรื่องการพัฒนาด้านความสามารถทางการแข่งขัน เทคโนโลยี การลงทุนในพื้นที่ EEC หรือการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม คือ การเพิ่มประสิทธิภาพผ่านการขยายฐานภาษี