การลงทะเบียนเพื่อรับโชคในสิทธิ์ “คนละครึ่ง” จากรัฐบาลในรอบล่าสุด หรือคนละครึ่งเฟส 3 ที่เปิดฉากให้ลงทะเบียนกันไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ดูเหมือนจะไม่คึกคักเหมือนครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา
มาตรการคนละครึ่งกับการลงทะเบียนในรอบล่าสุดเกิดปัญหาทางระบบเพียงแค่ ไม่สามารถเข้าไปลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันกระเป๋าตังค์ เนื่องจากระบบไม่มีความเสถียรพอที่จะรองรับปริมาณ traffic ของคนจำนวนมากที่ต้องการลงทะเบียน
แต่คนไทยก็แห่กันเข้าไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ที่ www.คนละครึ่ง.com แทน ซึ่งก็ผ่านฉลุยกันไปทุกคน ไม่เหมือนครั้งเดิมๆ ที่ต้องลุ้นแล้วลุ้นอีก ว่าจะลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ “กินครึ่ง” เหมือนกับเพื่อนๆ ได้หรือเปล่า
ซึ่งมันน่าสนใจตรงที่ว่า เมื่อพ้นการลงทะเบียนไปกว่า 6 ชั่วโมงแล้ว สิทธิ์ยังเหลือให้จับจองมากกว่า 10 ล้านสิทธิ์ จากทั้งหมด 31 ล้านสิทธิ์ที่จะได้ในโครงการนี้ ตัวเลขนี้สะท้อนได้อย่างไร หรือมนต์ขลังของคนละครึ่งมันไม่รุนแรงพอจะกระชากความสนใจของคนไทย ที่ต้องอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปากท้องของเรากันเอง
อีกสาเหตุที่อาจจะเป็นตัวแปรทำให้คนละครึ่ง เฟส 3 “ไม่ปัง” เท่าที่ควร อาจมาจากโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” อีกหนึ่งช่องทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งยื่นเงื่อนไขว่า เป็นโครงการกระตุ้นการบริโภค ผู้มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีคุณสมบัติเหมือนกันกับคนที่อยากได้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง เพียงแต่ว่าคุณจะต้องเลือกสิทธิ์ใดสิทธิ์เดียวเท่านั้น ซึ่งประโยชน์ของโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ คือ
1.เมื่อลงทะเบียนยิ่งใช้ยิ่งได้และได้รับสิทธิเรียบร้อยแล้ว สามารถใช้สิทธิผ่านแอปฯ เป๋าตัง โดยกดแท็บ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”
2. เติมเงินเข้า G-Wallet แล้วนำไปสแกนจ่ายค่าสินค้ากับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2564
3. หลังจากใช้จ่ายแล้วจะได้รับเงินคืนในรูปแบบ E-Voucher เข้า G-Wallet ทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป เช่น ใช้จ่ายในเดือนกรกฎาคม จะได้รับ E-Voucher ในวันที่ 7 สิงหาคม คำนวณจากมูลค่าการใช้จ่าย ดังนี้
ยอดใช้จ่าย 1-40,000 บาทแรก จะได้ E-Voucher คืน 10% ของยอดการใช้จ่ายนั้น สูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท
ยอดใช้จ่าย 40,001-60,000 บาท จะได้ E-Voucher คืน 15% ของยอดการใช้จ่ายนั้น สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท
แต่จำกัดยอดใช้จ่ายที่นำมาคำนวณสิทธิ E-Voucher ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน
แล้ว E-Voucher จะไปเข้าที่ไหน คำตอบคือคนที่ได้สิทธิ์นี้จะต้องใช้งานผ่านการเติมเงินเข้า G-Wallet แล้วนำไปสแกนจ่ายค่าสินค้ากับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2564 ซึ่งหลังจากใช้จ่ายแล้วจะได้รับเงินคืนในรูปแบบ E-Voucher เข้า G-Wallet ทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป เช่น ใช้จ่ายในเดือนกรกฎาคม จะได้รับ E-Voucher ในวันที่ 7 สิงหาคม โดยรัฐบาลให้สิทธิ E-Voucher สูงสุด 7,000 บาทต่อคน โดยใช้จ่ายสูงสุด 60,000 บาทต่อคน
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า โครงการนี้น่าจะเหมาะกับคนชนชั้นกลางค่อนไปทางระดับบน ที่มีกำลังซื้อ มีกำลังช้อปปิ้งจับจ่ายใช้สอย และรัฐคงหวังกับคนกลุ่มนี้ในการเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกที่รัฐบาลวางระบบเอาไว้
ซึ่งแน่นอนว่า หากมองในแง่ตัวเลขผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงิน โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ก็น่าจะตอบสนองเรื่องนี้ได้ดีกว่าโครงการคนละครึ่ง ในเฟส 3 ที่ต้องเติมเงินแล้วไปจับจ่ายซื้อของ โดยเฉพาะกับบรรดาของกินมากกว่า บวกกับการให้เลือกระหว่างสองสิทธิ์นี้ มันจึงทำให้คนไทยหันไปสนใจสิ่งที่ได้ประโยชน์กว่า จึงทำให้คนละครึ่งรองล่าสุดต้องเงียบเหงา ไม่เหมือนครั้งก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง ที่เปิดให้ลงทะเบียนไม่นาน ไม่ว่ากี่ล้านสิทธิ์ก็เต็มอย่างง่ายๆ
อีกหนึ่งเหตุผล น่าจะมาจากคนไทยเริ่มคุ้นชินกับการ “ให้” จากรัฐบาลมากกว่าการต้องไป “แชร์” แบบคนละครึ่งกับค่าใช้จ่าย เพราะหากมองถึงความปังความฮิต ต้องยอมรับว่ามาตรการแจกเงิน ทั้งเราชนะ เรารักกัน ที่ให้เงินไปจับจ่ายใช้สอย เป็นเรื่องที่ถูกจริตกับคนไทย และตรงกับความต้องการมากกว่าการรับสิทธิ์คนละครึ่ง
กระนั้นก็ตาม หากมองในอีกแง่หนึ่งแล้ว มาตรการคนละครึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างแท้จริง คนขายพร้อมขาย คนซื้อก็แค่ออกครึ่งหนึ่ง และมันจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น เงินหมุนเวียนมากขึ้นในแต่ละวัน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้สักชั่วครู่ชั่วยาม แต่เมื่อมีตัวเลือกอีกอย่าง เช่น ยิ่งใช้ยิ่งได้ และดูเหมือนว่าจะมีผลประโยชน์ที่มากกว่า น้ำหนักความสนใจจึงพุ่งไปที่สิ่งที่ได้ประโยชน์มากกว่านั่นเอง