“คนละครึ่ง” เป็นเหตุ สังเกตุได้! สรรพากร แจง หลังเรียกเก็บภาษี “แม่ค้าออนไลน์”


ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “จิราภรณ์ เพชรจินดา” โพสต์ข้อความกรณี กรมสรรพากร มีหนังสือแจ้งเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง โดยระบุว่า “#คนละครึ่งเป็นเหตสังเกตได้ พบผู้ร่วมชะตากรรม ณ.ที่ว่าการอำเภออีกเพียบ บางร้านผู้เฒ่าผู้แก่มาแบบงง..งง อิหยังวะ ส่งจม.มาบ้าน เพื่อเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเสยยย.. หนาวเลยตรู #พบกันหน้าอำเภอ #คนละครึ่ง_เราชนะ_เรารักกัน_ม33 ทำให้คนหลายคนมาเจอกัน โพดโพ..สเตทเม้นท์ย้อนหลัง1ปี”

.
ล่าสุด คุณจิราภรณ์ เปิดเผยผ่าน “Smart SME” ว่า กรณีดังกล่าวเนื่องจากตนเองถูกเรียกเก็บเงินภาษีย้อนหลัง จากการขายอาหารทะเลแบบเดลิเวอรี่ โดยลงทะเบียนร้านค้าเข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” “เราชนะ” และ “ม.33เรารักกัน” ซึ่งมียอดเงินเคลื่อนไหวในบัญชีหลักล้าน

.
“ตนได้ติดต่อกับทางสรรพากร ภายหลังมีหนังสือแจ้งการจ่ายภาษีประจำปี63 โดยพบว่าเป็นบัญชีธ.กรุงไทย ซึ่งใช้เพื่อการขายสินค้าและรับเงินจากโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และม.33เรารักกัน โดยสรรพากรคิดภาษีแบบเหมาจ่าย คือ 60% ของเงินได้ เมื่อคำนวณภาษีแล้วจะต้องจ่ายประมาณเกือบ 4 แสนบาท ซึ่งตนได้ใช้สิทธิการลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร และมารดา รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ คงเหลือประมาณ 92,000 บาท โดยทางสรรพากรกำหนดให้จ่ายภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ และสามารถผ่อนจ่ายได้”

.
ทั้งนี้ คุณจิราภรณ์ ยังกล่าวอีกว่า ตนเองเข้าใจดีว่าจะต้องเสียภาษีจากรายได้ที่ขายสินค้าดังกล่าว แต่มีความสงสัยกับจำนวนยอดเงินภาษีที่สูงมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจน จึงอยากทราบข้อมูลที่ชัดเจน พร้อมกับทางออกของปัญหาดังกล่าว

.
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นกรณีนี้ว่า การขายสินค้าออนไลน์ หากแม่ค้าหรือพ่อค้าที่ขายไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ในการคำนวณภาษีจะจัดเก็บในรูปแบบเดียวกับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งคาดว่าบุคคลดังกล่าวมีเงินเคลื่อนไหวในช่วงปีที่ผ่านมาประมาณ 2-5 ล้านบาท หรือเกินกว่า 5 ล้านบาท จึงมีการจัดเก็บภาษีในอัตรา 30-35% ของเงินได้สุทธิ

.
ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีออนไลน์ กรมสรรพากร จะมีอำนาจตรวจสอบข้อมูลกับธนาคารเจ้าของบัญชีได้ เมื่อมีการเคลื่อนไหวธุรกรรมในบัญชีธนาคารที่ผิดปกติ โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีนั้นๆเกิน 400 ครั้ง หรือมีการโอนเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ในกรณีนี้ให้นับเป็นเงินจาก “การขายสินค้าและบริการ” ซึ่งถือเป็นเงินที่ได้จากการประกอบอาชีพ และจะต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

.
ขั้นตอนต่อจากนั้น เมื่อตรวจสอบและแจ้งเจ้าของบัญชีแล้ว เจ้าของบัญชีสามารถชี้แจงที่มาของเงินได้ดังกล่าว โดยนำหลักฐานใบเสร็จรับเงิน หรือบิลเงินสดมาแสดงประกอบ ซึ่งจะมีการคำนวณรายได้ที่ต้องจ่ายภาษีหลังหักค่าใช้จ่ายอีกครั้ง

.
สำหรับกรณีนี้ คาดว่ามีรายได้มาจากการขายของผ่านโครงการ “คนละครึ่ง-เราชนะ-ม.33เรารักกัน” ซึ่งมีการรับเงินผ่านเข้าบัญชีเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นรายได้ โดยหากเกินจากเกณฑ์การยกเว้นภาษีคือ รายได้ตั้งแต่ 1-150,000 บาท/ปี สรรพากรจะต้องทำหน้าที่จัดเก็บภาษีให้ถูกต้องตามการจัดเก็บภาษีประจำปี2563 และสามารถยื่นแบบผ่านออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.64

.
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ที่ยื่นเสียภาษีหากไม่พร้อมที่จะเสียภาษีทั้งหมดในครั้งเดียว สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรเขตที่รับผิดชอบ เพื่อผ่อนผันการชำระภาษีได้ โดยจ่ายเป็นเช็คล่วงหน้า สามารถผ่อนผันได้ 12 งวด หรือใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันจะสามารถผ่อนผันได้ 24 งวด

.
ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชน หรือผู้ประกอบการ แม่ค้า พ่อค้า ที่ขายของผ่านออนไลน์ควรตรวจสอบบัญชี และจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย พร้อมเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อใช้ในการยื่นภาษีให้ถูกต้อง