นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมฯ เร่งเดินหน้าอำนวยความสะดวกทางการค้าและเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยนำรายได้เข้าประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยส่งเสริมการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีตามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ต่างๆ
.
ทางกรมการค้าต่างประเทศ จึงได้มีนโยบายผลักดันการใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการไทย รวมทั้งยังช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
.
ระบบ ESS เป็นระบบที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมฯ พิจารณาอนุมัติคำขอในระบบโดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์แบบคำขอดังกล่าว หลังจากนั้นระบบ ESS จะนำลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการจากฐานข้อมูลของกรมฯ มาพิมพ์บน C/O โดยอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้น สามารถลดเวลาในการขอรับ C/O เหลือเพียง 10 นาที/ ฉบับ จากเดิมที่เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการต้องลงลายมือชื่อและประทับตราแบบสด ซึ่งใช้เวลากว่า 30 นาที/ ฉบับ รวมทั้งช่วยลดโอกาสการถูกตรวจสอบย้อนกลับ (Post Verification) จากศุลกากรปลายทางได้มาก
.
และจะเริ่มให้บริการออก Form E (อาเซียน-จีน) ด้วยระบบ ESS ซึ่งจะส่งผลให้มี C/O ที่ออกด้วยระบบ ESS รวมทั้งสิ้น 9 ฟอร์ม ตั้งแต่เดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป จากทั้งหมด 12 ฟอร์ม อันได้แก่
- Form D (อาเซียน)
- Form JTEPA (ไทย-ญี่ปุ่น)
- Form AJ (อาเซียน-ญี่ปุ่น)
- Form FTA (ไทย-ออสเตรเลีย)
- Form AANZ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์)
- Form AK (อาเซียน-เกาหลี)
- Form AHK (อาเซียน-ฮ่องกง)
- Form TC (ไทย-ชิลี)
- Form E (อาเซียน-จีน)
.
รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 94.17 ของมูลค่าการออก C/O ทั้งหมด และกรมฯ จะเร่งเจรจากับประเทศปลายทางเพื่อผลักดันการใช้ระบบ ESS ให้ครอบคลุมทุกกรอบความตกลงของไทยภายในปี 2564
.
ทั้งนี้ ในปี 2563 กรมการค้ากระทรวงต่างประเทศได้ออก C/O ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี จำนวน 9 ฟอร์มดังที่กล่าวไว้ข้างต้น รวม 769,195 ฉบับ ดังนั้น การใช้ระบบ ESS จะช่วยประหยัดเวลาอย่างน้อย 20 นาทีต่อฉบับ กรมฯ จึงประเมินว่าการใช้ระบบจะช่วยลดระยะเวลาไปได้มากกว่า 256,000 ชั่วโมงต่อปี และเป็นการลดต้นทุนเวลาและค่าเสียโอกาสของผู้ประกอบการไทยไปได้อย่างน้อย 76 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งช่วยภาครัฐลดการใช้ทรัพยากรกระดาษในการพิมพ์แบบคำขอได้มากกว่า 3,300,000 แผ่นต่อปี การผลักดันนวัตกรรมดิจิทัลจึงสามารถสร้างแต้มต่อทางการค้าที่สำคัญให้สินค้าไทยผ่านการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งที่สุดแล้วจะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ เพราะเวลาเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากในเวทีตลาดโลก