ร้านอาหารในห้าง ปรับตัว พร้อมมองหาทางรอด หลังรัฐไม่ให้ขาย ไม่ให้ส่งเดลิเวอรี่


จากการมาตรการยกระดับล็อกดาวน์ล่าสุด ที่ได้ประกาศไปแล้ว และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (20 กรกฎาคม 2564) เพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งได้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะแผนก ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา แผนกเวชภัณฑ์ และพื้นที่ให้บริการวัคซีน หรือบริการทางการแพทย์ของสาธารณสุขของรัฐ สามารถเปิดได้ถึงแค่ 20.00 น. เท่านั้น
.
และจากประกาศที่ออกไปนั้น จึงทำให้ธุรกิจที่อยู่นอกเหนือจากนี้ที่อยู่ในห้างต้องปิดทั้งหมด รวมถึง “ร้านอาหาร” ที่มาตรการล็อกดาวน์รอบนี้ได้ออกคำสั่งให้ต้องปิดร้านในทันที นั่นจึงส่งผลให้ไม่สามารถส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ได้แบบเดิมอีกแล้ว แต่หากเป็นร้านอาหารนอกห้าง ก็ยังคงสามารเปิดต่อไปได้ถึง 20.00 น.
.
แม้ต้องปรับตัวจากสถานการณ์โควิดมาแล้วหลายรอบ แต่ธุรกิจร้านอาหารที่มีสาขาในห้างก็ยังต้องปรับตัวต่อไป จากผลของมาตรการยกระดับล็อกดาวน์ครั้งนี้ ซึ่งภายหลังจากที่มีประกาศก็ได้เริ่มเห็นภาพของธุรกิจร้านอาหารที่มีร้านหรือสาขาอยู่ในห้าง ต่างมองหาโอกาส ขยับขยายที่ทางของตัวเองให้มาอยู่ภายนอกห้าง เพื่อที่จะยังคงหล่อเลี้ยงธุรกิจของตัวเองให้เดินต่อไปได้
.
โดยเริ่มกันที่ ผู้ก่อตั้ง iberry group คุณอัจฉรา บุรารักษ์ เจ้าของร้านอาหารภายใต้แบรนด์ที่ติดหูมากมาย อาทิ กับข้าวกับปลา , รส’นิยม , โรงสีโภชนา , ทองสมิทธ์ , เจริญแกง , ฟ้าปลาทาน , และเบิร์นบุษบา ได้ประกาศผ่านเฟชบุ๊ก เพื่อหาร้านอาหารนอกห้างที่มีอุปกรณ์พร้อมแต่ไม่ได้เปิดร้าน ในย่านทองหล่อ , เอกมัย , ลาดพร้าว , เลียบด่วน , รามอินทรา , ราชพฤกษ์ , บางจาก เพื่อขอเช่าพื้นที่ทำเป็นครัวกลางส่งอาหารเดลิเวอรี่ของร้านในเครือ iberry group ภายหลังจากร้านอาหารในห้างและคอมมูนิตี้มอลล์ที่เครือ iberry group ประจำอยู่ ได้ถูกสั่งปิดในทันที 50 สาขา
.

.
ต่อเนื่องถึง เครือธุรกิจ Sukishi Inter Group ที่ก็ได้ลงประกาศตามหาพื้นที่เช่าทำครัวอาหารนอกห้างในย่าน พระราม 9 , พระราม 2 , พระราม 3 , ปิ่นเกล้า , เวสเกต , แฟชั่นไอแลนด์ , บางกะปิ และรังสิต รวมไปถึงในเขตจังหวัด ฉะเชิงเทรา , ชลบุรี และหาดใหญ่
.

.

ไม่เว้นแม่แต่ธุรกิจของลูกหลานเครือเซ็นทรัล อย่างแบรนด์ โปเตโต้ คอร์เนอร์ ของพีท พชร ก็ได้ร่วมประกาศตามหาพื้นที่เช่าด่วนในช่วง 14 วัน นับตั้งแต่ 20 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม ในเขตต่างๆประกอบด้วยลาดพร้าว , เอกมัย , ศรีนครินทร์ , บางนา , บางใหญ่ , ท่าพระ , ห้วยขวาง , บางกะปิ , พระราม 3 , เลียบทางด่วนรามอินทรา , รังสิต-ดอนเมือง , รังสิต-ปทุมธานี , พระราม 2 , บางแค , คันนายาว , ตลิ่งชัน , แจ้งวัฒนะ , งามวงศ์วาน , สำโรง , รัตนาธิเบศร์ , สุขสวัสดิ์-ทุ่งครุ เป็นต้น

.

.

.

.

ปิดท้ายกันด้วยเครือบริษัท Zen Group ซึ่งก็เรียกได้ว่าได้รับผลกระทบไปเต็มๆเหมือนกัน เพราะด้วยเครือนี้ มีร้านอาหารแบรนด์ใหญ่กระจายตัวอยู่ในห้างใหญ่แทบทุกหัวเมือง อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น อากะ , ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง , มูฉะข้าวหน้าล้น , ออน เดอะ เทเบิล , ร้านเขียง , ร้านอาหารไทยอีสาน ตำมั่ว , ร้านอาหารเวียดนาม ลาวญวน ที่ต่างก็เจ็บตัวไปตามๆกัน

.

ซึ่งในปัจจุบันเครือธุรกิจ ZEN Group มีร้านอาหารรวม 350 สาขาทั่วประเทศ ตอนนี้ต้องปิดสาขาในศูนย์การค้าไปแล้ว 130 สาขา แต่ก็ยังเหลือสาขาที่ตั้งอยู่นอกศูนย์การค้าได้อยู่ราว 200 สาขา ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ “เขียง” มาจากการปูพรมขยายสาขา การอ่านเกมตลาดว่าต้องขยายสาขาเข้าชุมชนมากขึ้น ลดการพึ่งพิงศูนย์การค้า ซึ่งทิศทางนี้ก็นับได้ว่า มาถูกจังหวะพอดี

.

คุณบุญยง ตันสกุล ผู้บริหารของเครือ เซ็นกรุ๊ป ได้เล่าว่า ในครั้งนี้ต้องทำหลายรูปแบบ ทั้งใช้พื้นที่ร้านของตัวเอง การซื้อพื้นที่ครัวกลางสำเร็จรูปที่ตอนนี้มีหลายรูปแบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดโดยเฉพาะ เช่าพื้นที่ร้านค้าทั่วไป เช่าครัวโรงแรม เช่าครัวโรงเรียนสอนอาหาร เป็นไปได้ว่าต่อไปอาจจะต้องซื้อตึกแถว แล้วรวมทุกแบรนด์ไว้ในที่เดียวเลยก็ได้

.
“ตอนนี้มีเช่าครัวกลางสำเร็จรูป เอาทุกแบรนด์มารวมกันที่สุขุมวิท และวิภาวดีรังสิต มีให้ทีมงานไปสำรวจร้านอาหารนอกศูนย์การค้า ส่วนใหญ่เป็นร้านเล็กๆ เมื่อเจอวิกฤตก็ขาดสภาพคล่อง เราก็ไปขอเช่าพื้นที่เขา เช่าครัวโรงแรม 2 แห่ง รวมถึงโรงเรียนสอนทำอาหาร ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ที่ไม่ได้เปิดให้บริการเยอะมาก ก็ไปขอเช่าพื้นที่เขา จะดูทำเลเป็นหลักว่าเสริมกับเดลิเวอรี่ได้หรือไม่ การเช่าโรงแรม กับโรงเรียนสอนอาหารเป็นระยะสั้น แต่ต่อไปจะมีตึกแถวแบบชั้น 1-3 มีแต่แบรนด์ในเครือก็ได้”


“การไปเช่าพื้นที่โรงแรมถูกกว่าค่าเช่าในศูนย์การค้าเยอะ ตอนนี้เปิดในศูนย์การค้าก็เป็นความเสี่ยง ถ้าไม่เปลี่ยนโมเดลจะเสี่ยง ซึ่งภาครัฐไม่มองการทำธุรกิจที่แท้จริง มองแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวคิดเยอะ”

.
“ตอนนี้มองหาโมเดลใหม่ๆ ให้อยู่ถาวร ต่อไปรัฐบาลจะออกมาตรการอะไรก็ได้ ต้องกระจายความเสี่ยง มีหลายบริษัทเริ่มทำครัวสำเร็จรูปให้คนไปเช่าเป็นครัวกลาง เหมือนเช่าในศูนย์ฯ แต่ค่าเช่าถูกกว่าเยอะ ตอนนี้ต้องอย่าไปลุ้นกับมาตรการรัฐ ไม่แน่นอน เป็นความเสี่ยงที่บริหารยาก ไม่มองว่าแค่ 14 วันด้วย มองว่าลากยาวเป็นปี ยังไม่รู้จะออกหัว หรือก้อย ไปแสวงหา White Ocean ดีกว่า ผ่านมา 4 เวฟแล้ว เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เราต้องกระจายความเสี่ยงกันเอง ต้องตีลังกาคิด ตอนนี้เปิดนั่งทานในร้านเสี่ยงสุด กลายเป็นว่าต้องเปลี่ยนการทานในร้านเป็นตัวเสริม ไม่ใช่ช่องทางหลัก ไม่งั้นจะจมปลัก ต้องมาแก้ปัญหาเรื่อยๆ ไม่มองวิกฤตแล้ว มองหาโอกาสดีกว่า”

 

.

.

.

จะเห็นได้ว่า ผลกระทบจากการล็อกดาวน์รอบนี้ ได้ส่งผลเป็นวงกว้าง ไม่จำกัดขอบเขตของระดับชั้นธุรกิจ ทุกคนต่างต้องดิ้นรนเพื่อหาทางรอดให้ธุรกิจของตนเอง ให้ยังสามารถเดินเครื่องจักรต่อไปได้ เพราะหากเครื่องจักรตัวนี้ดับลง ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลสะเทือน หากแต่กลไกฟันเฟืองอีกหลายชิ้นที่เป็นห่วงโซ่ในธุรกิจก็ต้องได้รับผลกระทบตามไปเป็นทอดๆเช่นกัน ซึ่งกลไกหลักที่สำคัญและนับได้ว่า เป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจให้ยังคงเดินต่อไปได้ ก็คือแรงงานที่ผ่านการฝึกปรือในแขนงงานที่ตนเองได้มอบหมาย ในแต่ละประเภท หากเกิดการสะดุด จนทำให้เกิดการลดอัตรา รวมถึงการพักงานที่นานจนเกินควร ก็อาจจะทำให้แรงงานเหล่านี้ ล้มหายตายจากไปจากงานที่พวกเขาได้แลกมันมาด้วยประสบการณ์ ซึ่งก็คงไม่เป็นผลดีกับการต้องเริ่มต้นฝึกทักษะให้กับแรงใหม่ที่เข้ามาทดแทน ยังให้เกิดผลเสียแก่ผู้ประกอบการ

.

นับได้ว่าเป็นการปรับตัวทางธุรกิจที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ธุรกิจในกลุ่มอื่นๆ ได้เห็นถึงความพยายามของผู้นำ เพื่อประคับประคอง มองหาโอกาสใหม่ และหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยความรวดเร็ว ภายใต้ข้อจำกัดที่ยังพอจะทำได้ ซึ่งในอนาคตก็อาจเป็นไปได้ว่า ธุรกิจในรูปแบบอื่น ก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นนี้เหมือนกัน หากจะเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราได้ลองปรับฉากทัศน์ มองเผื่อถึงอนาคตอันใกล้ ว่าเป็นไปได้ไหมที่ธุรกิจเราจะต้องถูกสั่งปิด และจะทำเช่นไร ถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น เพราะในเวลาแบบนี้ ผู้ที่มองเห็นทางออกได้ก่อน มีโอกาสรอดมากกว่า