สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชงรัฐบาลดัน “มาตรการพักหนี้ ลดดอก เติมทุน งดบูโร ดัน 2 กองทุน” เพื่อเร่งความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย


วันที่ 22 ก.ค. 64 เวลา 11.00 น. สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง “มาตรการพักหนี้ ลดดอก เติมทุน งดบูโร ดัน 2 กองทุน” โดยแถลงผ่านระบบซูม
.
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชงรัฐบาลควรเร่งดำเนินการ 6 เรื่องเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน และต่อลมหายใจให้ SMEs ไทย จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ประสบปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จวบจนปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มเปราะบาง ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง
.
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและเครือข่ายพันธมิตรฯ ตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในการหยุดแพร่ระบาด แต่ในความเดือดร้อน ทั้งการเลิกจ้าง หยุดกิจการ การฟ้องร้องดำเนินคดี การถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เราจึงได้ประชุมร่วมกันมีมติเสนอแนวทางต่อรัฐบาล คือดังนี้
.
1.) มาตรการ พักต้น พักดอก ไม่คิดดอกตลอดการพัก 6 เดือน

สำหรับกลุ่มลูกหนี้เดิมเพื่อไม่ให้เป็น NPLs ถ้าไม่หยุดจะเป็นผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการทั้งประเทศ มาตรการนี้เป็นการต่อลมหายใจให้ดำเนินกิจการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในอนาคตเมื่อประเทศกลับสู่ภาวะปกติ

.

2.) มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยให้กับ SMEs

2.1 กรณี SMEs ที่มีสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน มีประวัติการชำระดี แต่ต้องส่งดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าร้อย 5 ขอให้ลดเหลือร้อยละ 4 โดย รัฐบาลช่วยอุดหนุนร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 2 ปี
.
2.2 กรณี SMEs ที่มีแหล่งเงินกู้ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีประวัติผ่อนชำระดี ให้มีอัตราดอกเบี้ย ลดลงมากึ่งหนึ่ง เช่น นาโนไฟแนนซ์ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24-36% ต่อปี แม้จะลดลงมาก็เพียง 2-3% ไม่เพียงพอให้ผู้ประกอบการหาเงินมาจ่ายได้

.
3.) มาตรการสินเชื่อ Soft Loan วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะเวลาสินเชื่อ 2 ปี

ให้พิจารณาจากกระแสเงินสดสุทธิจากบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยไม่นำงบการเงินมาพิจารณาด้วย ทั้งนี้เนื่องจากงบการเงินอยู่ระหว่างการปรับตัวเข้าระบบบัญชีเดียว

.
4.) มาตรการยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร 2 ปี

การพิจารณาของสถาบันการเงินยังใช้ข้อมูลโดยไม่มีการผ่อนปรนแม้ในภาวะวิกฤติที่ไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการ จึงขอให้งดเว้นในช่วงที่โควิดระบาด และเพื่อเป็นการเตรียมให้เข้าระบบที่ถูกต้อง

.
5. มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ 2 กองทุน

5.1 กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ… กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอกองทุนผลักดันผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนและการดูแลอย่างเป็นระบบผ่าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนของ mSMEs ทำให้ mSMEs ไทยฟื้นฟูกิจการได้อย่างมีคุณค่าและเป็นธรรม
5.2 กองทุนบ่มเพาะสร้างการเติบโต เพื่อให้ SMEs เข้าสู่ระบบฐานภาษีของประเทศ เป็นเรือธงให้เกิดการบริหารสินเชื่อในกองทุนได้คล่องตัว และมีหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนไม่ใช้เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

.
6.) มาตรการกองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย

เสนอให้รัฐบาลออกกองทุนฟื้นฟูให้ NPLs ไม่ถูกยึดขายทอดตลาด จนทำให้เกิดความเป็นหนี้ซ้ำซ้อน และช่วยให้ SMEs กลับสู่ระบบเศรษฐกิจได้
.
โดยข้อเสนอทั้ง 6 ข้อในวันนี้จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรีวันนี้ ที่ผ่านมาเคยคุยกับนายกรัฐมนตรี 3 ครั้งตั้งแต่เกิดโควิด ปีที่แล้ว 2 ครั้ง ปีนี้ 1 ครั้ง ได้นำเสนอหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องที่เสนอครั้งนี้หลายเรื่องก็เคยเสนอไปแล้ว บางเรื่องก็ขับเคลื่อนไปบ้าง เช่น ร่าง พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ แต่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง เราคาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับเพราะเป็นเจตนาดีที่มีต่อภาคเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
.
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เชื่อว่าหากช่วง 2 เดือนจากนี้คือ ก.ค. และ ส.ค. ยังล็อกดาวน์แบบนี้ และไม่มีมาตรการอะไรออกมาเลย มั่นใจว่า SMEs 99.5% ของประเทศ อาจจะเหลือ 0.5% ที่สามารถดำเนินกิจการต่อได้
โดย SMEs รายย่อย มี 3 ล้านรายได้รับผลกระทบรุนแรง คิดเป็นผู้ประกอบการและแรงงาน ถึง 12 ล้านคน