ปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์จำเป็นต้องมี คือการได้กินอิ่ม นอนหลับ ในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกายที่ควรจะได้รับในแต่ละวัน มันคงจะไม่ดีแน่ ถ้าเราต้องใช้ชีวิตในแต่ละวัน ทั้งที่ร่างกายยังไม่พร้อม ซึ่งหลายท่านก็อาจจะเคยประสบกับปัญหาเหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น แต่ในวันนี้เราจะพามาพูดถึงการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ที่สร้างปัญหาให้กับหลายประเทศ
.
ด้วยวิกฤติเศรษฐกิจผนวกกับปัญหาสังคมที่เป็นปัจจัยให้เกิดความเครียด ซึ่งสามารถส่งผลต่อปัญหาการนอนไม่หลับ หลับยาก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ที่ปัจจุบันคนไทยมีปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากการสำรวจของกระทรวงสาธารณะสุข มีคนไทยกว่า 19 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 30% ไม่เท่านั้น ปัญหานี้ยังส่งผลต่อประชากรโลก ที่มีชั่วโมงการนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงในแต่ละวัน
.
.
แล้วมันส่งผลต่อเศรษฐกิจยังไง
จากงานวิจัยของแรนด์ยุโรป ในปี 2016 พบว่าการนอนหลับไม่เพียงพอของคนทำงาน ทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศนับเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งการสูญเสียนี้ส่งผลมาจากประสิทธิภาพการทำงานที่ลดต่ำลงเมื่อคนพักผ่อนน้อย
.
หากท่านมองภาพไม่ออก ลองจินตนาการว่าการที่เรามีสมองช้าลง ไม่กระฉับกระเฉง ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด จนสร้างผลเสียให้กับหน้าที่การงาน และถ้าผลเสียนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่คนๆเดียวล่ะ ถ้าคนหลายล้านกำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ มันจะส่งคลื่นความเสียหายเป็นวงกว้างออกไประดับที่ใหญ่กว่านั้นได้แน่
.
ซึ่งก็มีผลการศึกษาระบุว่าคนที่นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงจะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง 2.4% ขณะที่ผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง ลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ได้นอนอย่างเพียงพอตามมาตรฐาน 7-9 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่ายิ่งนอนน้อย งานจะยิ่งมีประสิทธิภาพต่ำตามลงไปด้วย ตอนนี้เราคงมองเห็นภาพกว้างได้ว่า การพักผ่อนไม่เพียงพอ สะเทือนธุรกิจได้อย่างไร
.
หนึ่งในประเทศที่ทำงานหนัก จริงจังกับการทำงาน คงจะหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น หากดูจากสถิติขององค์การนอนหลับโลกในปี 2013 พบว่า จำนวนผู้นอนหลับต่ำกว่า 7 ชั่วโมงในญี่ปุ่นมีมากถึง 66% ของประชากรในประเทศ สถิตินี้แซงขึ้นนำหน้าอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนี อย่างไม่ต้องสงสัย และเหตุนี่เองจึงทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียมูลค่า GDP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน โดยรายงานแรนด์ยุโรปยังเปิดเผยต่อว่า ปี 2016 ญี่ปุ่นได้สูญเสีย GDP ไปมากถึง 2.92% จากเดิม 1.86% ซึ่งคิดเป็นเงินกว่า 138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นตัวเลขที่ชี้วัดอะไรได้พอสมควร เมื่อจับความเชื่อมโยงนี้ได้
.
.
มีสถิติงานวิจัยซึ่งเผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด กล่าวถึงผลเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงรายบุคคลว่า ผู้พักผ่อนน้อยจะสูญเสียโอกาสที่จะสร้างรายได้สูงถึง 2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ต่อปี ซึ่งก็ประจวบกับผลบ่งชี้ว่า ผู้นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง สูญเสียเวลาที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ราว 6 วันต่อปี
.
.
เมื่อได้เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้ว คงจะมีหลายคนที่อาจจะฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า พักหลังมานี้ งานของเรามีประสิทธิภาพลดลง อาจจะเพราะด้วยสาเหตุนี้หรือไม่ ซึ่งปัจจัยนี้ นับได้ว่ามีส่วนต่อการดำรงชีวิตพื้นฐานเลยก็ว่าได้ นอกจากทำให้เกิดอาการง่วงนอนตลอดเวลา หรืองีบหลับขณะทำงาน ยังทำให้งานขาดคุณภาพและประสิทธิภาพ ส่งผลต่อหน้าที่รับผิดชอบแล้ว ทั้งยังส่งให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มาจากการนอนไม่พอ เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว อันจะส่งผลเสียต่อชีวิต ครอบครัว และหน้าที่การงานในที่สุด
.
และเมื่อพูดถึงปัญหาการนอนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะมาจากอาการนอนไม่หลับ หลับยาก ก็ได้พบว่ามีหลายบริษัทที่มองเห็นปัญหานี้เป็นโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมสินค้าและบริการ ที่ช่วยในเรื่องการนอนหลับมากขึ้น
.
มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมการช่วยในการนอนหลับโลก
โดยที่ในปี 2562 ธุรกิจที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมช่วยการนอนหลับทั่วโลก มีมูลค่าตลาดโดยรวมอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาทโดยประมาณ โดยจำแนกตามประเภทเป็น
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม เคมีเวชภัณฑ์ ซึ่งมีมูลค่ามวลรวมอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท
- กลุ่มเทคโนโลยีเครื่องนอน และแอปพลิเคชั่นที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ มีมูลค่าอยู่ที่ 0.3 ล้านล้านบาท
.
บริษัทระดับโลกที่เข้ามาทำตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม ที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ
- Sanofi บริษัทวิจัยและผลิตยา จากประเทศฝรั่งเศส
- Merck & Co บริษัทยา จากประเทศสหรัฐอเมริกา
- Pfizer บริษัทวิจัยและผลิตยา จากประเทศสหรัฐอเมริกา
บริษัทที่เข้ามาทำตลาดในกลุ่มเทคโนโลยีเครื่องนอนและแอปพลิเคชัน ที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ
- Eight Sleep ผู้พัฒนาเครื่องนอนที่มีเทคโนโลยีช่วยเรื่องการนอนหลับ ในสหรัฐอเมริกา
- Oura Health Oy ผู้พัฒนาเทคโนโลยีแหวนที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ ในประเทศฟินแลนด์
- Sleep Shepherd ผู้พัฒนาอุปกรณ์คาดศรีษะ และแอปพลิเคชันที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ ในสหรัฐอเมริกา
.
.
จากข้อมูลตัวเลขมูลค่าตลาด จะเห็นว่าแม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีจะกำลังเป็นเครื่องยนต์หลักในหลายอุตสาหกรรม แต่สำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการช่วยเรื่องการนอนหลับ ยังคงมีส่วนแบ่งในตลาดนี้น้อยมาก ซึ่งก็น่าสนใจว่า บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ จะเข้ามาเจาะตลาดนี้มากขึ้นในอนาคตหรือไม่ มีปัจจัยอะไร ที่จะดึงความสนใจของนักลงทุนให้กล้ากระโดดเข้ามาเล่นตลาดช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในการนอนหลับ
.
แต่หากมองในมุมของประชากรโลก ในอนาคตอันใกล้นี้ โลกเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้สูงวัยทั่วโลก ต่างก็เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับเป็นเรื่องปกติ นั่นจึงหมายความว่า ตลาดคนนอนไม่หลับในอนาคต จะยังคงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และมีการคาดการณ์ว่า ในระหว่างปี 2563-2573 อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 7.1% ต่อปี ซึ่งการเติบโตด้วยอัตรานี้ จะทำให้ในปี 2573 ตลาดนี้ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จาก 2.1 ล้านล้านบาท เป็น 4.2 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว
.
มาถึงบทสรุปส่งท้ายนี้ จากข้อมูลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น นับได้ว่าการนอนหลับ เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก ต่อทั้งคุณภาพชีวิตมนุษย์ และศักยภาพของคนทำงานในตลาดแรงงานโลก ตัวเลขนี้คงจะทำให้การวัดผลประสิทธิภาพแรงงานชัดมากขึ้น เพราะหากเข้าใจ และรับรู้ถึงปัญหาของพนักงาน ก็มีส่วนทำให้ผลลัพท์ที่ทุกคนตั้งเป้าหมายร่วมกัน สัมฤทธิผลได้เร็วและมีคุณภาพ รวมไปถึงตัวของพนักงานเองที่เมื่อได้ทราบปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานของตนเอง จนเกิดการเรียนรู้และปรับตัว เพื่อให้ประสิทธิภาพงานดียิ่งขึ้นตามลำดับ ก็จะส่งผลทำให้หน้าที่การงานมีโอกาสเติบโตขึ้น แต่สุดท้ายทุกอย่างควรช่างน้ำหนักและอยู่บนความบาลานซ์ที่ดี ระหว่างสุขภาพและการทำงาน เพราะหากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปแล้ว ผลเสียที่ตามมาก็จะตกอยู่ที่ตัวเราในท้ายที่สุด