“การนอนไม่หลับ” ดันธุรกิจที่นอนในจีนเติบโตมหาศาล


สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว รายงานว่าปัจจุบันทั่วโลกมีผู้มีปัญหาเรื่องการนอนประมาณร้อยละ 10 – 49 ตามรายงานการบริโภคเกี่ยวกับการนอนไม่หลับบนออนไลน์ปี ค.ศ. 2019 – 2020 ของสถาบัน JD Big Data Research Institute เปิดเผยว่า กลุ่มคนที่อายุระหว่าง 22 – 31 ปี และกลุ่มคนที่อายุระหว่าง 32 – 41 ปี มีปัญหาการนอนหลับมากกว่าผู้สูงอายุรุนแรงมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาการนอนไม่หลับ เป็นโอกาสให้กับอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ และสามารถทำกำไรได้มหาศาล นั่นก็คือ ธุรกิจที่นอน

 

ข้อมูลในปี ค.ศ. 2019 เปิดเผยว่าบริษัทที่นอนจีนมีอัตราส่วนการกระจุกตัว (CR5) อยู่ที่ร้อยละ 15.99 โดยส่วนแบ่งตลาดของบริษัทชั้นนำ ได้แก่ แบรนด์ DeRUCCI (มู่ซือ) ครองสัดส่วนร้อยละ 8 แบรนด์ Sleemon (สี่หลินเหมิน) ครองสัดส่วนร้อยละ 4.11 แบรนด์ KUKA HOME (กู้เจียเจียจู้) ครองสัดส่วนร้อยละ 1.5 แบรนด์ CHEERS และบริษัท Man Wah Holdings Limited (จือหัวซื่อ และหมิ่นหัว) ครองสัดส่วนร้อยละ 1.46 และแบรนด์ Mlily (เหมิ้งป่ายเหอ)

 

สำหรับผู้นำตลาดที่นอนในประเทศจีนที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศ ถูกเรียกย่อๆ ว่า 3S1K (ประกอบด้วยแบรนด์ SIMMONS แบรนด์ SEALY แบรนด์ SEATA และแบรนด์ KINGKOIL) ขณะที่แบรนด์จีนที่เป็นผู้นำในตลาด ได้แก่ แบนรด์ DeRUCCI แบรนด์ Sleemon แบรนด์ SOMNOPRO (ซุ้ยเป่า) แบรนด์ Mlily แบรนด์ KUKA HOME และแบรนด์ CHEERS โดย 6 แบรนด์จีนนี้ มีหน้าร้านจำนวน 5,242 แห่ง ในปี ค.ศ. 2014 ถัดมาปี ค.ศ. 2017 มีหน้าร้านจำนวน 8,004 แห่ง และปี ค.ศ. 2019 มีหน้าร้านจำนวน 11,393 แห่ง ในขณะที่แบรนด์ 3S1K มีหน้าร้านในปี ค.ศ 2014 2017 และ 2019 แบ่งเป็น จำนวน 668 แห่ง 2,330 แห่ง และ 2,925 แห่ง

 

เมื่อพิจารณาด้านราคา พบว่า ในปี ค.ศ. 2019 ราคาที่นอนที่ออกจากโรงงานมีราคาอยู่ที่ 955 หยวน หรือประมาณ 4,775 บาทต่อผืน (ในปี 2016 ราคาประมาณ 915 หยวน หรือประมาณ 4,575 บาท) ขณะที่ราคาที่นอนทั่วไปของแบรนด์ต่างประเทศ อย่างแบรนด์ 3S1K มีราคาสูงถึง 20,000 หยวน หรือประมาณ 100,000 บาท ซึ่งภายหลังพบว่าคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่นอนแบรนด์จีนถูกพัฒนาและได้รับการยกระดับคุณภาพดีขึ้น จนทำให้กลุ่มลูกค้าของแบรนด์ที่นอนต่างชาติก็เริ่มถูกแบรนด์จีนยึดตลาดมากขึ้น (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวนเท่ากับ 5 บาท)

 

นอกจากนี้ จากรายงานข้อมูลของแต่ละแบรนด์ พบว่า ราคาที่นอนจากโรงงานสำหรับการขายปลีกของแบรนด์ DeRUCCI มีราคาประมาณ 1,000 – 2,000 หยวน หรือประมาณ 5,000 – 10,000 บาท แบรนด์ KUKA HOME ราคาประมาณ 2,000 – 4,000 หยวน หรือประมาณ 10,000 – 20,000 บาท ขณะที่ แบรนด์ CHEERS ซึ่งจำหน่ายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก ราคาประมาณ 3,000 หยวนลงมา หรือประมาณ 15,000 บาทลงมา

 

เมื่อพิจารณามูลค่าตลาดที่นอนจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2019 พบว่าขนาดตลาดอุตสาหกรรมที่นอนในจีนมีมูลค่าถึง 65,890 ล้านหยวน หรือประมาณ 329,450 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีโอกาสในการพัฒนาอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี บรรดาผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่นอนจีนถือว่ามีแบรนด์ที่นอนขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการแข่งขันสูง ซึ่งหากแบรนด์ที่มีขนาดเล็กไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพสินค้า และควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ และต้องออกจากตลาดไปในที่สุด

 

สำหรับช่องทางการแข่งขันของบริษัทที่นอนส่วนใหญ่ในจีนจะแบ่งออกเป็นช่องทางค้าปลีก โรงแรม อีคอมเมิร์ซ และการส่งออก เป็นต้น โดยพบว่าแบรนด์จีนจะมีอัตราการครอบครองในตลาดจีนสูงกว่าแบรนด์ต่างชาติ
พฤติกรรมการบริโภคที่นอนในจีนปัจจุบันในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน โดยพบว่า ในเมืองที่มีเศรษฐกิจดีอย่างกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว รวมถึงเมืองชายฝั่งตะวันออก จะมีการบริโภคที่นอนแบรนด์ระดับกลาง-ไฮเอนด์มากที่สุด และมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ขณะที่การบริโภคที่นอนของเมืองศูนย์กลางในแต่ละพื้นที่หลักของจีนจะเป็นแบรนด์ระดับกลางเป็นหลัก ส่วนตลาดชนบทเป็นผลิตภัณฑ์ระดับกลาง-ล่างเป็นหลัก นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบว่าบริษัทที่นอนชั้นนำของจีนกำลังเร่งขยายหน้าร้านเพิ่มมากขึ้น อาทิ แบรนด์ DeRUCCI จำนวนร้านตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 – 2019 จาก 2,100 แห่งเพิ่มเป็น 4,900 แห่ง เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 540 แห่ง ขณะที่แบรนด์ Sleemon จำนวนร้านตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 – 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 3,140 แห่ง เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 535 แห่ง และตั้งเป้าว่าในปี ค.ศ. 2021 จะมีจำนวนร้านเพิ่มขึ้น 800 – 1,000 แห่ง

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

กลุ่มผู้บริโภคที่นอนหลักๆ ในตลาดจีนคือ ครอบครัว โรงแรม และโรงพยาบาล ตามลำดับ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภคของครอบครัว ได้แก่ รายได้ และความต้องการที่นอนสำหรับบ้านใหม่ เป็นต้น ขณะที่หลายปีที่ผ่านมานี้ รายได้และค่าใช้จ่ายของประชากรจีน รวมถึงพื้นที่การขายที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสืบเนื่องจากกลุ่มคนนอนไม่หลับในเมืองขยายใหญ่ขึ้น จึงนำมาซึ่งความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์สำหรับการนอนหลับอย่างที่นอนที่มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการนอนหลับในปี 2020 ของแบรนด์ Sleemon ที่เปิดเผยว่า กลุ่มคนที่อายุระหว่าง 22 – 31 ปี มีปัญหานอนไม่หลับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่ในปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมามีพบว่าคนที่มีปัญหานอนไม่หลับคิดเป็นร้อยละ 24.9 ต่อมาปี ค.ศ. 2019 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36.1 นอกจากนี้ ในรายงานสำรวจสุขภาพการนอนของชาวจีนหลังการระบาดของโรคโควิด – 19 ปี ค.ศ. 2020 พบว่า ชาวจีนกว่าร้อยละ 52.2 เลือกที่จะปรับสิ่งแวดล้อมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้นอนหลับได้ดีมากขึ้น เช่น แช่เท้าก่อนนอน ฟังเพลงก่อนนอน และเปลี่ยนที่นอนและหมอน เป็นต้น

 

เมื่อพิจารณาปัจจัยในการเลือกซื้อที่นอน พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 60.3 ตัดสินใจที่จะซื้อที่นอนเนื่องจากคุณสมบัติของที่นอนเป็นสำคัญ อาทิ ความคงรูปของที่นอน และการปรับฟังก์ชันของที่นอน ขณะที่มีความคาดหวังต่อคุณสมบัติของที่นอนในอนาคต คือ ต้องการที่นอนที่สามารถปรับอัตโนมัติให้รับกับท่านอนที่ดีที่สุด ร้อยละ 38.3 และต้องการที่นอนที่สามารถตรวจสอบคุณภาพของการนอนหลับได้อัตโนมัติ ร้อยละ 27.2 ตามลำดับ

 

จะเห็นได้ว่าการ “นอนไม่หลับ” นำมาซึ่งโอกาสของตลาดที่นอนในจีนที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จึงถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามองของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีทิศทางและแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับสถิติการนำเข้าฐานรองฟูก รวมทั้งของที่เป็นเครื่องเตียงและของตกแต่งเตียงที่คล้ายกัน (เช่น ฟูก ผ้านวม ผ้านวมขนนก เบาะพู้ฟฟ์และหมอน เป็นต้น) มีสปริงหรือยัดไส้หรือติดภายในด้วยวัตถุใดก็ตาม หรือทำด้วยยางเซลลาร์หรือพลาสติก จะหุ้มหรือไม่ก็ตาม (Hs Code 9404) ของจีนจากไทยตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2021 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.09 คิดเป็นมูลค่า 20.71 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนนำเข้าจากไทยเป็น อันดับ 1 รองลงมา ได้แก่ อิตาลี ออสเตรเลีย เยอรมนี และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่นอนของไทยที่จำหน่ายในประเทศจีนทางช่องทางอีคอมเมิร์ซในหลากหลายแพลตฟอร์ม อาทิ แพลตฟอร์ม Pinduoduo Taobao Tmall และ JD.com เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดที่นอนในจีนสามารถพิจารณาช่องทางการค้าอีคอมเมิร์ซในการเปิดตลาด ซึ่งถือเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างกว้างขวางและทุกเพศทุกวัย รวมทั้ง ใช้ช่องทางในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างการร่วมมือกับ KOL และ KOC เพื่อให้สินค้าไทยเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ตลอดจนรักษาคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพสูงเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ของจีนได้มากขึ้นตามไปด้วย