ตำนานความต่างที่เกิดขึ้นจริง ! ถอดวิธีทำการตลาดแบบคอลแลปส์แบรนด์ เมื่อ “เครื่องดื่มชูกำลังเอ็ม150 มาอยู่ในปีโป้”


วัยเด็กของแต่ละคนต่างก็มีของเล่นในดวงใจ ที่แม้จะผ่านเวลามานานขนาดไหน ภาพทรงจำนั้นก็ยังคงติดแน่นอยู่ในจินตนาการเสมอเมื่อได้มีโอกาสเห็นหรือแม้กระทั้งแค่นึกถึงของโปรดชินนั้น

และคงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ก็มีอาหารจานโปรด เครื่องดื่ม หรือขนมที่ทำให้รู้สึกดีเวลาได้กิน หายโกรธเมื่อมีคนรู้ใจนำมาปลอบประโลม จนไปถึงช่วยเยียวยาจิตใจในยามเศร้า ซึ่งพอท่านได้อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ก็อาจจะมีความทรงจำวัยเด็กที่แวบเข้ามาในหัวให้ได้พอหายคิดถึง

.

.

ซึ่งล่าสุด ปีโป้ได้ออกกลยุทธ์ที่ผ่านการทำการตลาดแบบ Collaboration Marketing ระหว่าง ‘ปีโป้’ และ ‘M-150’ ที่แบรนด์ทั้งคู่ต่างก็อยู่ภายใต้เครือบริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ด และบริษัท โอสถสภา ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกลุ่มผู้บริหารเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องยากหากจะนำสินค้าทั้งสองตัวมาพัฒนาโปรเจกต์พิเศษร่วมกัน

หากแต่ความน่าสนใจของการทำกลยุทธ์ครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการเขย่าฐานของกลุ่มผู้บริโภค 2 แบรนด์ที่มีความต่างกัน เพราะสินค้าทั้งสองชนิดนี้ ถูกวางตำแหน่งการทำตลาดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เห็นได้จากที่ผ่านมา ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในไทย มีอยู่ไม่กี่เจ้าที่สามารถเจาะฐาน จนสามารถเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เอ็ม150 สินค้าขวัญใจผู้ใช้แรงงานไทย ส่วนปีโป้กลับเป็นสินค้าที่เน้นจับฐานเด็กเล็ก วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนี้ เป็นความท้าทายที่นักการตลาดหลายคนต่างก็จับตามองถึงผลลัพท์ที่ตามมา

หากพูดถึงเอ็ม150 ที่ฐานผู้บริโภคหลักเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เป็นฐานที่กว้างมากในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลัง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ล้วนส่งผลมาจากการโฆษณาผ่านการสื่อสารอย่างหนักหน่วงยาวนาน โดยผ่านการเจาะฐานผู้ใช้แรงงานไทยอย่างเจาะจง ทำให้ภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มชูกำลังในไทยเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานไปโดยปริยาย

และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ความมุ่งหมายของทุกแบรนด์ต่างก็มุ่งจะขยายขอบเขตฐานผู้บริโภคไปสู่ตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตได้ การจะกระโดดไปสู่ฐานที่แตกต่าง มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่มักทำกันเป็นสิ่งแรกๆคือการเปิดภาพลักษณ์ใหม่ให้กับแบรนด์ เพื่อฉีกหรือขยายภาพจำเดิมให้ต่างออกไป จนไปแตะกับฐานผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งสิ่งที่เอ็ม 150 ทำอยู่นี่นับได้ว่าเป็นการฉีกที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก

การกระโดดไปคอลแลปส์กับปีโป้ในครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากในแง่ของผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับภาพลักษณ์เดิมของสินค้า เนื่องจากแต่เดิมฐานของปีโป้ จับกล่มเด็กน้อย วัยรุ่นวัยเรียน จนถึงกลุ่มวัยทำงาน ที่ยังคงนิยมในรสชาติของสินค้าที่ตนเองได้เคยมีโอกาสได้กินเมื่อครั้งยังเด็ก ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่มีฐานผู้บริโภคที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

.

หากแต่การกระโดดมาจับมือกันในครั้งนี้ คงไม่ได้หวังแค่การขยายฐานลูกค้าเพียงเท่านั้น เอ็ม 150 อาจพุ่งเป้าไปที่การเสริมภาพลักษณ์ พร้อมความพยายามเปลี่ยนภาพจำของผู้คนที่มีต่อ เอ็ม 150 ซึ่งนับได้ว่าเป็นการทำที่ได้มากกว่าแค่การขยายฐานทั่วไป จากที่ได้กล่าวถึงภาพจำเดิมของฐานผู้บริโภคเอ็ม 150 ที่เป็นคนรากหญ้า ทำงานหนัก รวมถึงคนที่มีอายุ การได้มาจับมือกับปีโป้ เปรียบเสมือนเป็นการรีแบรนด์ในอีกนัยหนึ่ง เพื่อตอบโจทย์ความทันสมัย สร้างความแปลกใหม่ พร้อมๆกับการเจาะฐานคนรุ่นใหม่ไปด้วยในตัวอย่างแนบเนียน

.

.

.

.

.

แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆทั้ง 2 แบรนด์จะมาจับมือกันด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ หากแต่จุดเริ่มต้นเล็กๆและอาจจะเป็นเมนไอเดียที่ถูกโยนเข้าไปกลางวงนักการตลาด คงต้องขอเท้าความพูดถึงกลุ่มบริโภคส่วนหนึ่ง ที่มีความชื่นชอบการได้ดื่ม “น้ำปีโป้ปั่น ผสมกับเอ็มร้อย” ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ชอบรสชาติแบบนี้ อันอาจจะเห็นได้จาก ป้ายเมนูเครื่องดื่มตามร้านกาแฟข้างทางหรือแบบรถฟู้ดทรัค ที่เรามักจะได้เห็นชื่อเมนูนี้อยู่บ่อยๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุด Pain point (ความเจ็บปวดของลูกค้า) อีกแบบหนึ่งที่ทางเจ้าของแบรนด์ทั้งสองมองเห็นถึงความต้องการของผู้บริโภค และมองถึงโอกาสต่อยอดจากทุนเดิม พร้อมการตอบแทนผู้บริโภคของพวกเขาที่ยังคงรักใน “น้ำปีโป้ปั่น ผสมกับเอ็มร้อย”

ซึ่งเทคนิคกำลังไปยุทธ์การคอลแลปส์แบรนด์ นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจและได้รับความนิยมมากในตอนนี้ ในสภาพเศรษฐกิจที่ทุกแบรนด์ต่างมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป การคอลแลปส์อาจมาตอบโจทย์ห่วงโซ่ที่ขาดการเชื่อมต่อ ให้กลไกยังพอเดินต่อไปได้ ในขณะที่ทั้งสองแบรนด์ก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

หากจะให้ขยายความคำว่า คอลแลปส์แบรนด์ ซึ่งมีชื่อเรียกทางการตลาดว่า Collaboration Marketing หมายถึง การจับคู่แบรนด์เพื่อทำโปรเจกต์ร่วมกัน กลยุทธ์นี้เป็นการผสมผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่ายที่ต่างก็มีอยู่เป็นทุนเดิม เพื่อสร้างความแปลกใหม่ และขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นนั่นเอง

ยิ่งในสภาวะแบบนี้ การได้รวมธุรกิจหรือแบรนด์สินค้าก็นับได้ว่า อาจจะเป็นทางออกหนึ่งของผู้ประกอบการที่ต้องการโอกาสใหม่เพื่อแหวกมรสุมใหญ่ไปพร้อมกับพันธมิตรที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “รวมกันเรารอด”

.

.