ภายหลังมีกระแสการแห่ซื้อยาสมุนไพรเพื่อช่วยต้านโควิด-19 ซึ่งมีข่าวออกมาให้เห็นกันอยู่ในทุกวัน จากยาฟ้าทะลายโจร มาจนถึงกระชาย และล่าสุดกับ “โกฐจุฬาลัมพา” ซึ่งมีผลการวิจัยที่เผยแพร่โดยเพจ BIOTHAI (มูลนิธิชีววิถี) ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า มีคณะนักวิจัยจาก Columbia University และ University of Washington สหรัฐอเมริกา ได้วิจัยพบว่า “โกฐจุฬาลัมพา” สามารถต้านเชื้อโควิดได้ในห้องปฏิบัติการ ผลวิจัยดังกล่าว พบว่าสารสกัดโดยน้ำร้อนของสมุนไพรนี้มีฤทธิ์ยับยั้งโควิดได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของนักวิจัยในจีน และการส่งเสริมโดยประธานาธิบดีแห่งมาดากัสการ์
แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเห็นจากกลุ่มหมอแพทย์แผนไทยว่า สมุนไพรชนิดนี้ยังไม่ควรที่จะนำมาใช้กินหรือดื่มแบบไม่ผสมกับตำรับยาชนิดอื่น ตามแนวทางที่ปฏิบัติกันมาของตำราแพทย์แผนไทย โดยเราได้นำความเห็นของ นพ.จักราวุธ เผือกคง ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่มีต่อ “โกฐจุฬาลัมพา” มานำเสนอเพื่อเป็นข้อย้ำเตือน พร้อมแนวทางในการหาสมุนไพรชนิดนี้มาใช้เพื่อการรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บไข้จากโรคโควิด
.
โกฐจุฬาลัมพาคืออะไร ทำไมคนถึงแห่ซื้อกันในช่วงนี้ ตีคู่ไปกับฟ้าทะลายโจร
โกศจุฬาลัมพา นับว่าเป็นสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยนำมารักษาโรคกันเป็นเวลานานแล้ว มีการประยุกต์ใช้กับตำรับยาและองค์ความรู้แผนไทยในการรักษาโรค มีสรรพคุณหลากหลาย แก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง สามารถแก้ไข้ห้าราก แก้ลดอาการไข้ นอกจากนี้ โกฐจุฬาลัมพา ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์แก้อักเสบ มีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันด้วย และด้วยสรรพคุณฤทธิ์ยาที่โดดเด่นนี้ จึงทำให้เป็นที่สนใจของผู้คนที่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของสมุนไพรชนิดนี้ในชนิดที่เรียกว่าแทบจะขาดตลาดเพียงชั่วข้ามคืน
ในประเทศไทยโกฐจุฬาลัมพามีอยู่หลายสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามา ซึ่งในร้านขายยาแผนไทยมีขาย 3 สายพันธุ์ด้วยกัน และทั้งหมดเรียกชื่อเดียวกันว่า โกฐจุฬาลัมพา เพียงแค่จะมีลักษณะตามแต่สายพันธุ์ที่เหมาะกับการใช้งาน ดังนี้
– สายพันธุ์ที่ 1 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia annua เป็นสายพันธุ์ที่แผนแพทย์ไทยนำมาทำยารักษาโรค มีสรรพคุณลดไข้ บรรเทาอาการตัวร้อน ปวดเมื่อยเนื้อตัวจากอาการไข้
– สายพันธุ์ที่ 2 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia vulgaris สายพันธุ์นี้ลดไข้ได้ไม่ดีเท่าสายพันธุ์แรก แต่เด่นรักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนเลือด ระบบการย่อยอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้
– สายพันธุ์ที่ 3 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia argyi เป็นสายพันธุ์ที่แพทย์แผนจีนมักนำไปใช้ในการฝังเข็มและรมยา ซึ่งไม่เหมาะกับการนำมารับประทาน
.
.
สารสำคัญที่อยู่ในโกฐจุฬาลัมพา
โกฐจุฬาลัมพามีสารอนุพันธ์ “เซสควิเทอร์พีนแลกโทน” (sesquiterpene lactones) หลายชนิด แต่สารที่ถือว่าสำคัญคือ ซิงฮาวชู (qinghaosu) หรือ อาร์เทแอนนูอิน (arteannuin) หรือ อาร์เทมิซินิน (artemisinin) และพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) อีกหลายชนิด เช่น คาสทิซิน (casticin), เซอร์ซิลินีออล (cirsilineol), คริโซพลีนอล-ดี (chrysoplenol-D), คริโซพลีเนทิน (chrysoplenetin)
.
แล้วเราสามารถหาซื้อมากินเองที่บ้านได้หรือไม่ ควรมีแนวทางบริโภคอย่างไร ให้ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพ
โดยปกติแล้ว โกศจุฬาลัมพาที่ขายกันอยู่ในร้านขายยาแผนโบราณ จะขายในรูปแบบตากแห้ง ซึ่งจะทำให้ทุกสายพันธุ์ดูมีหน้าตาเหมือนกันหมด ทำให้แยกออกยากว่าเราควรจะซื้อสายพันธุ์ไหนมาบริโภค ซึ่งก็มีความกังวลจากแพทย์แผนไทยว่าหากประชาชนไปซื้อกินกันเอง อาจจะได้ยาที่ไม่เหมาะกับการกินเพื่อรักษาอาการไข้ เช่นได้แบบที่เอาไปใช้ฝังเข็ม รมยา ประเภทนี้จะเอามากินไม่ได้เลย ฉะนั้นจึงต้องให้แพทย์แผนไทยที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบหน้าร้านเป็นคนวินิจฉัย พร้อมให้คำแนะนำที่เหมาะแก่ประชาชนที่ต้องการ
ซึ่งโดยปกติแล้วแพทย์แผนไทยจะไม่นิยมนำโกศจุฬาลัมพามาใช้โดยไม่ผสมกับตำรับยาชนิดอย่างอื่น เพราะยาบางตัวมีความสามารถในการลดพิษยาชนิดอื่นที่ผสมร่วมกันได้ เพื่อให้ยามีการออกฤทธิ์และเสริมฤทธิ์กันและกัน ควบคู่ไปกับการรักษาสดุลไม่ให้ตัวใดตัวหนึ่ง สร้างผลเสียแก่ร่างกายจนมากเกินไปนั่นเอง
ดังนั้น โกศจุฬาลัมพา จึงจำเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทยอย่างใกล้ชิด เพราะโกฐจุฬาลัมพาเป็นยา ไม่ใช่อาหาร หากกินทุกวัน อาจเกิดโทษได้ ยกตัวอย่างเช่น ร่างกายเราไม่ได้ป่วย แต่เรากลับไปกินยาที่มีฤทธิ์แรงกว่าสภาพร่างกาย ซึ่งนั่นอาจทำให้เราป่วยได้จริงๆจากตัวยาที่อาจทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติไปจากเดิม
โดยมีคำแนะนำจากแพทย์แผนไทยให้ระวัง อันตรายที่เกิดจากการเอามาชงน้ำร้อนดื่มทุกวัน เพราะร่างกายแต่ละคนทนยาได้ไม่เท่ากัน ยังไม่เคยมีใครกินโกฐจุฬาลัมพาทุกวันโดยที่ไม่ผ่านการปรุงยาร่วมกับส่วนผสมแบบอื่น ควรใช้แต่พอดีเท่านั้น และข้อสำคัญคือควรกินเฉพาะตอนที่ป่วยแล้วหรือมีอาการไม่สบายตัวแล้วเท่านั้น ซึ่งหากประชาชนอยากจะหาซื้อยาที่มีส่วนผสมของโกฐจุฬาลัมพามารับประทาน ก็สามารถซื้อยาตำรับจันทน์ลีลามากินลดไข้แทนได้ จะสะดวกและลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการปรุงยา ไม่ต้องไปซื้อแบบตากแห้งมาทำยากินเอง
ในกรณีที่ซื้อโกศจุฬาลัมพาแบบไม่ผสมยาตัวอื่นมาแล้ว จะทำอย่างไร หากกินไปแล้ว จะเป็นอย่างไร
เนื่องจากก่อนหน้ามีประชาชนแห่ไปซื้อโกศจุฬาลัมพากันจนมีข่าวว่าราคาได้ปรับตัวสูงไปหลายเท่าตัวแล้ว สำหรับคนที่ซื้อมาแล้ว ควรพิจารณาให้ดี เพราะยังย้ำว่าไม่ควรใช้โกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรแบบเดี่ยว แบบใช้เพียงขนานเดียวในการดูแลสุขภาพ โกฐจุฬาลัมพาเป็นสมุนไพรที่ต้องเข้าตำรับยา ต้องผ่านการปรุงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น
และสำหรับคนที่กินแบบเพียวๆไปแล้ว โดยไม่ผสมสมุนไพรตัวอื่นร่วมไปเลย ให้สังเกตอาการข้างเคียงหลังจากกิน เพราะหากกินในปริมาณมากติดต่อกัน 3 วัน จะมีอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ มีอาการวิงเวียน มึนงง ถ้าพบอาการเหล่านี้ให้หยุดกินทันที และอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 1-2 วัน หากหลังจากนั้นยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป
“โกฐจุฬาลัมพา” สามารถรักษาโควิดได้จริงหรือไม่
นพ.จักราวุธ เผือกคง ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ “โกฐจุฬาลัมพา” จะสามารถรักษาหรือบรรเทาโควิดได้ เพียงแต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของงานวิจัยที่ยังอยู่ในหลอดทดลอง การจะเอาผลการทดลองมาใช้ในมนุษย์ยังมีอีกหลายขั้นตอน ซึ่งจะต้องทดลองจนกว่าจะรู้ว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ถ้าเราเอาผลวิจัยที่อยู่ในหลอดทดลองมาใช้ก่อน อาจเกิดความเสี่ยงกับร่างกายได้ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปเรื่องความเป็นพิษในตัวยาชนิดนี้ หากสุดท้ายแล้วผลวิจัยชี้ว่าเป็นพิษ แต่เรากินไปแล้ว เราก็จะได้รับอันตรายจากตัวเราเอง
.