อดีตพนักงานระดับบริหารชาวมาเลเซียตกงาน ผันตัวมายึดอาชีพทำข้าวกล่องขายออนไลน์ จำกัดไม่เกินวันละ 100 กล่อง จนเกิดเป็น “Wongka Home Cooked Food” ธุรกิจเล็ก ๆ ที่เพิ่งเริ่มเมื่อเดือนกค.ปีที่แล้ว กับเวลาที่ผ่านไป 1 ปีเต็ม พิสูจน์แล้วว่าแม้เป็นคนทำอาหารไม่เป็น แต่ความตั้งใจและความมุ่งมั่นก็ทำให้มาถึงจุดที่ธุรกิจอยู่รอด นอกจากสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวยังสามารถเผื่อแผ่ไปยังสังคมรอบข้างอีกด้วย เรื่องราวของ บรูซ หว่อง ผู้บริหารตกงานสู่อาชีพอาหารกล่อง จากไอเดีย ข้าวกะเพราของไทย
ช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด บรูซเคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน หนึ่งในงานที่เคยทำคือตำแหน่งผู้จัดการประจำ co-working space แห่งหนึ่งในกรุงเทพ แต่หลังจากเจอพิษเศรษฐกิจและถูกเลิกจ้าง เขาก็กลับมาตั้งหลักที่กัวลาลัมเปอร์พร้อมกับคิดหาวิธีจะทำยังไงให้สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวซึ่งประกอบด้วยลูกชายวัย 8 และ 10 ขวบ 2 คน รวมทั้งภรรยาซึ่งกำลังตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด
สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจจะทำอาหารขาย แต่เมนูเดียวที่ทำเป็นในขณะนั้นคือ “ผัดกะเพรา” อาหารไทยที่เขาหัดทำช่วงทำงานที่กรุงเทพนาน 2 ปี เป็นเมนูที่เรียกได้ว่า “กันตาย” สำหรับเขา บรูซเปิดเฟสบุ๊กเพจขึ้นมาเพื่อขายข้าวกล่องโดยเริ่มต้นที่ข้าวกะเพราไข่ดาวซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ได้รับออร์เดอร์ 30-40 กล่องในช่วงแรกของการเริ่มดิ้นสู้
หลังจากนั้นเขาก็พัฒนาฝีมือ ฝึกทำอาหารโดยศึกษาจากยูทูปและอินเตอร์เน็ต ทำการปรับสูตรเองจนลงตัว และสามารถเพิ่มเมนูให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารจีนสไตล์ไต้หวัน เช่น หมูตุ๋น และซุปต่างๆ อาหารมาเลย์ เช่น นาซีเลอมักหรือข้าวมันไก่/หมูทอดมาเลย์ บะกุดเต๋ และอาหารไทย นอกจากผัดกะเพราไข่ดาว ก็มีข้าวขาหมูแบบไทยๆ และกุ้งผัดสะตอ เป็นต้น โดยที่ในช่วงหลังมานี้ก็เริ่มมีขนมหวานให้เลือกด้วยอีกทางหนึ่ง
ในการทำข้าวกล่องของบรูซ เขาใช้คอนเซปต์ตั้งต้นว่าต้องเมนูที่ทำทานเองในครอบครัว เป็นเมนูบ้านๆ แต่ทำด้วยความตั้งใจและพิถีพิถัน จากที่ทำน้อยๆ ก็ทำในปริมาณที่เยอะขึ้นเพื่อแบ่งไปทำข้าวกล่องขายด้วย และเพื่อให้รสชาติอาหารคงเส้นคงวา ทุกครั้งที่ปรุง เขาจึงชั่งตวงวัดวัตถุดิบ ส่วนผสมหรือเครื่องปรุงแบบเป๊ะๆ อาจจะเพราะพรสวรรค์ในการทำอาหารที่บรูซเองก็เพิ่งค้นพบ อาหารที่เขาทำรสชาติถูกปากลูกค้าเป็นอย่างมาก ยอดสั่งซื้อจึงเพิ่มมากขึ้นจนเขาต้องจำกัดไม่เกิน 100 กล่องต่อวันเนื่องจากกำลังการผลิตทำไหวได้เพียงแค่นี้
ข้อดีของการขายอาหารแบบ pre-order หรือจองล่วงหน้าคือทำให้สามารถจัดสรรวัตถุดิบได้ลงตัวทำให้ไม่เหลือทิ้ง ไม่กลายเป็นขยะอาหาร ใช้เวลาเพียง 6 เดือน ธุรกิจ Wongka Home Cooked Food ของบรูซก็เริ่มอยู่ตัว มีออร์เดอร์เข้ามาสม่ำเสมอ หลังจากมีรายได้เลี้ยงครอบครัวแม้จะไม่ฟู่ฟ่านัก แต่บรูซก็เริ่มนึกถึงการคืนกำไรให้สังคม ด้วยเหตุนี้ ทุกวันเสาร์ เขาจึงทำอาหารเพิ่มเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่คนยากไร้ บ้านเด็กกำพร้า บ้านพักคนชรา และผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด
ที่มาจาก: SME Startup
.