สมุนไพรไทยยุคโควิดกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า ยืดระยะเวลาให้สินค้า พร้อมสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการไทย


ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยนั้นมีรากฐานมานานนับร้อยนับพันปี อารยธรรมต่างๆที่ถือเป็นเอกลักษณ์ในการแสดงถึงเผ่าพันธุ์และความเป็นผู้เจริญแล้ว สิ่งหนึ่งที่แสดงออกมาได้เป็นอย่างดีก็คือ ศิลปะที่ผสมผสานและผูกพันอยู่ในการใช้ชีวิตประจําวันของคนไทยนั่นเอง ศิลปะเหล่านี้รวมไปถึงการกินด้วยอาทิ เช่น การตั้งสํารับและการประกอบจัดอาหาร ซึ่งนั่นก็ไม่เพียงเพื่อความอร่อยลิ้นเพียงประการเดียว ยังมีความสวยงามในการจัดแต่งเป็นองค์ประกอบของอาหารให้งามตายิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่น่าแปลกเลยที่อาหารและเครื่องดื่มของไทยนั้นจะแฝงไว้ด้วยเจตนารมณ์ให้ ผู้บริโภคได้ซึมซับทั้งรสชาติและคุณประโยชน์ไปพร้อมกันอย่างชาญฉลาด

และเมื่อได้กล่าวถึงอาหารที่ถูกส่งต่อผ่านวัฒนธรรมไทยมาเนิ่นนานแล้ว “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” ก็นับเป็นหนึ่งในวิถีองค์ความรู้ที่เดินทางผ่านเวลามานับหลายร้อยปีเช่นกัน สมุนไพร นับว่าอยู่คู่กับสังคมของเรามาอย่างยาวนาน คนไทยไม่เพียงแต่ใช้สมุนไพรเป็นยารักษาโรคเท่านั้น แต่ยังนํามาดัดแปลงเพื่อบริโภคในรูปของอาหารและเครื่องดื่มสมุนไพรบํารุงสุขภาพ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป วิวัฒนาการได้มีส่วนช่วยให้วิถีดั่งเดิมต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ก้าวทันโลก ดังจะเห็นได้จากเทรนด์การแปรรูปอาหาร ซึ่งปัจจุบันได้ขยายมาสู่แวดวงสมุนไพรมาหลายปีแล้ว มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การเก็บรักษา สามารถยืดเวลาได้นานขึ้น พร้อมกับการรักษาคุณภาพให้คงรูปเสมือนวัตถุดิบต้นกำเนิด ในรูปของการแปรรูปสมุนไพรไทย

.

.

การนำพืชสมุนไพรมาแปรรูปตามหลักการการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มักจะทำกันผ่านกระบวนการที่คล้ายคลึงกับแบบอาหาร โดยการนำส่วนของพืชสมุนไพรมาผสม ปรุง หรือแปรสภาพ เช่น บดละเอียด โดยการเปลี่ยนแปลงสถานะของสมุนไพร ให้แตกต่างไปจากเดิม เพื่อประโยชน์ในการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อให้การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีคุณภาพดี ตลอดจนสามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าใกล้เคียง ผลิตภัณฑ์เดิมมากที่สุด เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางประเภทไม่สามารถคงสภาพอยู่ได้นาน การแปรรูปจะสามารถเข้าไปตอบโจทย์การเก็บรักษา เพื่อคงคุณค่า และสรรพคุณที่ดีของพืชสมุนไพรไว้ให้ได้นานมากขึ้นนั่นเอง

พืชสมุนไพรมีหลายชนิด และมีสรรพคุณทางยาเพื่อการรักษา บำบัด บรรเทา หรือป้องกันโรค ความเจ็บป่วย ที่เกิดจากพืช สัตว์จุลชีพหรือธาตุวัตถุที่เมื่อเข้ามาในร่างกายเราแล้วจะทำให้อวัยวะในส่วนต่างๆ เกิดความไม่สมดุล

.

การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีประโยชน์อย่างไร ทำไมถึงจำเป็นต้องแปรรูป

1.) เพื่อรักษาคุณภาพและประโยชน์ของสมุนไพร เพราะโดยปกติแล้วคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีความแปรผันกับเวลา กล่าวคือ คุณภาพของผลิตภัณฑ์จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาเพิ่มมากขึ้น การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้อยู่รูปแห้ง ทำให้มีน้ำหนักเบา และสามารถป้องกันอาหารจากการเสื่อมสภาพจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ดี ไม่จำเป็นต้องอาศัยขนส่งโดยใช้ห้องเย็นที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และสะดวกในการขนส่งกว่าการขนส่งในรูปของอาหารสดที่ยังไม่ได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นคงสภาพอยู่ได้นานที่สุดนั่นเอง

2.) เพื่อเปลี่ยนลักษณะของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมในเชิงการค้า หรือการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น พลูคาว หญ้าหมอน้อย มีกลิ่นและรสชาติที่รับประทานได้ยาก ดังนั้นก่อนนำมาบริโภค จึงจำเป็นต้องมีการแปรรูปให้เป็นผงแห้งเสียก่อนพร้อมใส่ในแคปซูลหรือทำเป็นเม็ดเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน

ปัจจุบันการนำพืชสมุนไพรมาใช้เป็นยารักษาโรค ได้มีการพัฒนาวิธีการผลิตในรูปแบบสำเร็จที่สะดวกในการนำไปใช้ เนื่องจากมีผู้นิยมใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น สถานที่ผลิตยาสมุนไพรมีเพิ่มมากขึ้น มีการลงทุนนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมาใช้ การสกัดสารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรและรูปแบบยามีหลากหลายที่ผลิตด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น ยาแคปซูล และครีมเจล โดยใช้แทนการสกัดด้วยการต้ม บีบ คั้น หรือปั้นเม็ดยาด้วยมือ ซึ่งสถานที่ผลิตสมุนไพรที่สำคัญและเป็นที่รู้จัก ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

3.) ด้านการลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ปัจจุบันมีการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลายชนิดมาใช้เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน ซึ่งมีสรรพคุณทางยา และมีประโยชน์ทางการแพทย์ไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน แต่ที่ดีกว่า คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ เพราะสมุนไพรสามารถปลูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น ราคาถูก บางชนิดไม่ต้องซื้อเพราะมีอยู่ทั่วไป ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหายามาใช้ในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน และยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์หรือซื้อหายาแผนปัจจุบันที่มีแหล่งจำหน่ายอยู่เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น

4.) ด้านการสร้างอาชีพที่มีความมั่นคงยั่งยืน ด้วยความนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปัจจุบันมีสูงมาก ซึ่งมีการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพหลัก การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวจึงมีลู่ทางที่สดใส เนื่องจากตลาดมีความต้องการสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อีกมาก ทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันมากขึ้น ทั้งการผลิตในระดับโรงงานโดยหน่วยงานของกระทรวงเอง และส่งเสริมการผลิตทั้งในระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรเกิดขึ้นมากในชุมชนก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่งผลถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนอย่างยั่งยืน

.

ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศของเรากำลังอยู่ในห้วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แม้จะมียาแพทย์แผนปัจจุบันทั้ง ฟาวิพิราเวียร์ , โลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ ที่แพทย์ยึดเป็นตัวยาหลักที่ใช้ในการรักษาโควิดแล้วก็ตาม หากแต่เมื่อมีความต้องการมาก ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะทำให้ยาขาดตลาด

จึงเป็นที่มาของการนำสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณร้อนแรง ช่วยลดอาการไข้ พร้อมบรรเทาอาการเจ็บปวด มาใช้ร่วมกับการรักษาโรคโควิด 19 ดังจะเห็นจากที่หลายคนนำไปใช้แล้วได้ผล สามารถช่วยให้อาการดีขึ้น ตลอดจนหายจากการป่วยจากโรคนี้ได้ในหลายเคส สำทับด้วยการแนะนำจากแพทย์แผนไทย จนปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่า สมุนไพรเหล่านี้ ได้อยู่ในทุกบ้านทุกครัวเรือน เสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้านในยุคโควิด

.

ฟ้าทะลายโจร

สำหรับยาฟ้าทะลายโจร ถือเป็นสมุนไพรที่ไทยนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ควบคู่กับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเป็นสมุนไพรที่ถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จุดเด่นคือแอนโดรกราโฟไลด์ ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และบรรเทาอาการป่วยโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง เช่น คัดจมูก หรือมีน้ำมูก ลดโอกาสที่ไวรัสจะลุกลามลงปอด และใช้ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดอาการรุนแรง

จากผลการวิจัย พบว่าการใช้ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อผู้ป่วยโควิด-19 มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส แต่ประสิทธิภาพจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ ดังนั้นจึงควรใช้ในปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์ โดยควรกินวันละ 180 มิลลิกรัม แบ่งวันละ 3-4 ครั้ง ไม่ควรกินเกิน 5 วัน และไม่ควรใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาลดความดัน รวมทั้งควรระวังหากใช้ในขณะมีไข้สูง และในผู้ป่วยที่มีโรคตับและไต มีอาการแพ้หรือตั้งครรภ์

.

กระชายขาว

พืชสมุนไพรคู่ครัวที่นอกจากนิยมนำมาทำอาหารแล้ว ยังอยู่ในตำรับยาพื้นบ้านของคนไทยมาช้านาน โดยในรอบปีที่ผ่านมา “กระชายขาว” ค่อนข้างได้รับความสนใจในฐานะสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กระชายขาวเป็นสมุนไพรภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเหง้า, ราก, ใบ นิยมนำมาต้มดื่มเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย โดยใส่มะนาว หรือน้ำผึ้งเพิ่มเติมลงไป เพื่อลดความขมของเหง้ากระชายขาวสด บ้างก็นำมาบดทำเป็นยาในทางแพทย์แผนไทย

โดยมีความเห็นจาก ดร. ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยาว่า ทีมวิจัยค้นพบว่ามีสารสกัดจากกระชายขาวที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้ โดยมีที่มาจากสารสำคัญทั้ง 2 ตัวที่อยู่ในกระชายขาว คือ Pandulatin A และ Pinostrobin สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 

ซึ่งหากพูดถึงสรรพคุณ กระชายสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงช่วยบรรเทาอาการได้หลายอย่างด้วยกัน อาทิ รักษาโรคปากเปื่อย ปากเป็นแผล อาการจมูกไม่ได้กลิ่น ไซนัสอักเสบ ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายและชูกำลัง บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก และช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล

แม้กระชายขาวจะมีสรรพคุณทางยา แต่หากกินติดต่อกันเป็นเวลานานในปริมาณเกินพอดี ก็อาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอาการร้อนใน แผลในปาก ปัญหาเหงือกร่น และภาวะใจสั่น เนื่องจากกระชายขาวเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนนั่นเอง หากกินเยอะเกินไปร่างกายอาจเสียสมดุลได้ หากจะกินกระชายขาวเพื่อรักษาโรค ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ไม่ควรกินกระชายขาว เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของตับและไต

.

ขิง

เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน นั่นก็เพราะขิงมีสารพฤกษเคมีที่ชื่อว่า gingerols (6-Gingerol), shogaols และน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดอาการไอ และยับยั้งเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในทางเดินหายใจได้ เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อการนำมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และช่วยเจริญอาหาร โดยมีสรรพคุณช่วยในการขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียดแน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ผู้คนต่างก็ออกมาเสาะแสวงหาสมุนไพรชนิดนี้มาเพื่อชงดื่ม ด้วยหวังว่า จะมีส่วนช่วยในการระงับยับยั่งเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

แต่ก็ควรที่จะใช้อย่างระมัดระวังในขณะเดียวกัน อ้างอิงจากความเห็นของ กรมการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีคำเตือนถึงข้อควรระวังสำหรับการใช้ขิง โดยระบุว่า หากต้องการใช้ระยะยาว ควรระวังการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) และยาละลายลิ่มเลือด (antiplatelet) เนื่องจากอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าและทำให้เลือดไหลหยุดยาก , ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด , ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหานิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์ , ไม่แนะนำให้รับประทานในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี , เนื่องจากขิงมีรสเผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีความร้อนภายในร่างกายอยู่แล้ว เช่นผู้เหงื่อออกมาก เหงื่อออกเวลากลางคืน ตาแดง ถ้าจะรับประทานควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

ดังนั้นจึงไม่ควรหวังพึ่งสรรพคุณของ ‘ขิง’ เพียงอย่างเดียว หรือดื่มมากเกินพอดี แต่ควรปรับพฤติกรรมอย่างอื่นเพื่อดูแลสุขภาพร่วมด้วย โดยเฉพาะการออกกำลังกายและรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จึงจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมรับมือโรคภัยหากเจ็บไข้ได้ป่วย

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยผ่านการแปรรูปที่ช่วยรักษา ลดอาการ หรือบรรเทาความเจ็บป่วยจากโควิด 19

.

 .

.

.

.

.

หากคุณกำลังสนใจผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยแปรรูปที่ได้นำเสนอไว้ข้างต้น

สามารถติดตามช่องทางจำหน่ายสินค้าต่อได้ที่

Facebook Fanpage : Thailand Mall

Website : www.thailandmall.com

หรือติดต่อผ่านไลน์ที่ : https://lin.ee/kx15Yio 

.

บริษัท มอลล์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่ายและเป็น Marketing Arm ให้แก่ผู้ประกอบการ (SMEs) ไทยและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (OTOP) จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา ยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยให้มีศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างภาพลักษณ์และมูลค่าเพิ่ม พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพในระดับสากล

.

.

นอกจากนี้ ยังเป็น e-commerce ในการจัดจำหน่ายสินค้าทั้ง Online และ Offline เพื่อนำเสนอสินค้าภูมิปัญญาไทย คุณภาพเยี่ยมออกสู่สายตาชาวโลกผ่านเว็บไซด์ www.thailandmall.com 

โดยให้ความสำคัญกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มได้แก่

– กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์อาหาร (Food & Beverage)
– กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม (Health & Beauty)
– กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ตกแต่งและของใช้ในชีวิตประจำวัน (Decorative & Lifestyle)

.