จากสถานการณ์ในช่วงโควิดระบาดหนักก่อนหน้านี้ที่ร้านอาหารในห้างต่างก็ได้รับผลกระทบจากการปิดห้าง ทำให้หลายแบรนด์ต้องรีบปรับตัวอย่างกะทันหัน ดังจะเห็นได้จากการประกาศหาพื้นที่เพื่อตั้งครัวพร้อมหาหน้าร้านนอกสถานที่เพื่อประคองยอดขายให้ยังคงหล่อเลี้ยงธุรกิจได้ต่อเนื่อง
แต่ยุคนี้การจะอยู่เฉยๆ แล้วรอให้ผู้บริโภคเดินเข้าไปหาคงไม่ใช่วิธีที่ดีอีกต่อไปแล้ว ท่ามกลางคู่แข่งมากมายที่เพิ่มขึ้นมาไม่หยุดหย่อนไม่เว้นวัน จะหวังเพียงขายออนไลน์เดลิเวอรี่ก็คงจะไม่ทันการ ทำให้หลายแบรนด์ต้องมองหาช่องทางอื่น ที่จะเป็นฝ่ายที่เดินเข้าหาผู้บริโภคก่อน จึงไม่แปลกหากในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นโมเดลร้านแบบเคลื่อนที่กันมากขึ้น ทำให้รถขายอาหารแบบฟู้ดทรัคเป็นช่องทางใหม่ที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก
.
.
ซึ่งล่าสุด เราก็ได้เห็นแบรนด์ร้านอาหาร โออิชิ ลงมาเล่นตลาด รถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ ภายใต้โปรเจค โออิชิ ฟู้ด ทรัค โดยนำเมนูอาหาร จากแบรนด์ ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ มาให้บริการทั้งแบบซื้อกลับบ้านและจัดส่งหรือเดลิเวอรี่ พร้อมชูจุดขาย คุณภาพ สดใหม่ ในราคาย่อมเยา เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ แม้ที่ผ่านมา จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางขายแบบซื้อกลับบ้าน (Take Home) และจัดส่ง (Delivery) มากขึ้น แต่การปรับรูปแบบร้านให้สอดคล้องกับการตลาดในปัจจุบัน โดยเน้นขับเคลื่อนเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายให้ได้ครอบคลุมและรวดเร็ว ก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างที่ได้กล่าวไป
โดยเบื้องต้นกำหนดจุดจอดประจำ และเน้นให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีผู้คนสัญจรไปมาจำนวนมาก ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ประกอบด้วย ปตท. ปัญญาอินทรา เขตคันนายาว, ปตท. เอนเนอร์ยี่ พาร์ค เขตตลิ่งชัน, ปตท. แยกหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี, ปตท. คลองหลวง คลอง 1 จ.ปทุมธานี, ปตท. แพรกษา จ.สมุทรปราการ และจุดพักรถ พอร์โต โก บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมมีแผนเพิ่มจำนวนและขยายพื้นที่ให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดทางเลือกใหม่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ โดยใช้โมเดลดังกล่าว อาจะไม่เป็นเพียงสีสันในการทำตลาดเท่านั้น แต่จะเป็นกลยุทธ์หลักในการขยายสาขาและพื้นที่ให้บริการ ในเวลาที่ร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ ไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ เพื่อสร้างโอกาสต่อยอดช่องทางขายสินค้าในช่วงล็อกดาวน์แบบนี้
นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจร้านอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือโออิชิ เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการแพร่ระบาดและมาตรการเชิงป้องกันที่เข้มข้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีสาขาอยู่ในห้างฯ อย่างมาก ซึ่งข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคอาจไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการอย่างเต็มที่ โออิชิจึงต้องเร่งปรับแผนเพื่อตอบสนองและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้เช่นเดิม
.
“ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญต่อการพัฒนาช่องทางขายแบบซื้อกลับบ้าน (Take Home) และจัดส่ง (Delivery) มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีการปรับรูปแบบร้านให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดในปัจจุบัน โดยเน้นเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว ผ่านการเปิดตัวและขยายธุรกิจสู่ร้านอาหารประเภทฟูดทรัค หรือรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ ภายใต้ “โออิชิ ฟู้ดทรัค” มากขึ้นเช่นเดียวกัน
และไม่ใช่เพียงแค่เครือ โออิชิ กรุ๊ป เท่านั้นที่ลงมาจับตลาดนี้ แต่ก่อนหน้าก็ได้มีหลายแบรนด์ลงมาชิมรางตลาดรถขายอาหารเคลื่อนที่กันมาก่อนแล้วหลายแบรนด์ด้วยกัน เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด สร้างความรับรู้ใหม่ให้กับลูกค้า วันนี้เราเลยจะพาไปดูเทรนด์การตลาดที่มาพร้อมกับรถฟู้ดทรัคเคลื่อนที่ ที่นับว่าเป็นการขายอาหารซึ่งเหมาะกับยุคโควิดเป็นอย่างมาก
.
.
เคเอฟซี ฟู้ดทรัค
เมื่อช่วงปลายปี 63 เคเอฟซี ได้เปิดตัวโมเดล ฟู้ดทรัค เพื่อเพิ่มช่องทางใหม่ พร้อมความสะดวกให้กับลูกค้าพนักงานออฟฟิต โดยใช้สถานที่เปิดทดลอง หน้าอาคารสาทร สแควร์ (หัวมุมแยกสาทร-นราธิวาส) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางขายใหม่ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในย่านนั้น และยังหวังต่อยอดในอนาคตถ้าได้รับการตอบรับที่ดี จะขยายไปจุดให้บริการออกไปยังย่านต่างๆ รวมถึงการให้บริการตามงานอีเวนต์
ส่วนเมนูที่นำมาจำหน่าย จะเน้นไปที่เมนูพิเศษที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า และเน้นการให้บริการในย่านที่มีทราฟฟิกสูง ไม่ได้จอดอยู่บริเวณนั้นถาวร แต่จะเคลื่อนที่หมุนเวียนไปตามสถานที่ใหม่ ซึ่งเป็นจุดแข็งของรถฟู้ดทรัค
.
.
แดรี่ควีน ฟู้ดทรัค
แม้ว่าโมเดลนี้จะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หรือเกิดในช่วงภาวะโรคระบาด เพราะได้เกิดมามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว หากแต่ก็นับได้ว่า แดรี่ควีน ฟู้ดทรัค เป็นผู้เล่นในตลาดนี้ยุคแรกๆ ที่มองเห็นถึงโอกาสของโมเดลรถขายอาหารเคลื่อนที่ ด้วยกระแสฟู้ดทรัคที่เริ่มมีในหลายปีที่ผ่านมา ประจวบกับปัจจุบันที่ยิ่งเป็นแรงผลักให้โมเดลฟู้ดทรัคได้รับความนิยมต่อเนื่อง ทั้งตอบโจทย์ความต้องการในแง่ของการเข้าถึงได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว หากสังเกตจะเห็นว่าปัจจุบันจะเห็นว่าหลายๆ ธุรกิจเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางนี้มากขึ้น เนื่องจากป็นการลงทุนที่ไม่มากนัก หากเมื่อเทียบกับการเปิดร้านหรือเปิดสาขาในศูนย์การค้า
โดยหลักๆ จะเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยนำรถฟู้ดทรักเข้าไปในพื้นที่นั้น เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์ และเมื่อลูกค้าเริ่มรู้จักและคุ้นเคยกับแบรนด์ก็จะทำให้ลูกค้ากลับไปทานที่หน้าร้านหรือสาขาอื่นที่อยู่ในเครือตามมานั่นเอง เรียกได้ว่า ทำหนึ่งได้ถึงสองไปในคราวเดียวกันเลยทีเดียว
.
.
รถตุ๊กตุ๊ก มิสเตอร์ โดนัท
Mister Donut (มิสเตอร์ โดนัท) อีกหนึ่งแบรนด์สำคัญในเครือ CRG ที่หลายคนอาจจะเคยเห็นช่องทางการขายแบบ “รถสามล้อโมเดล” (Mobile Tuk Tuk Model)
เหตุผลที่มิสเตอร์ โดนัทเลือกนำ “รถตุ๊กตุ๊ก” มาพัฒนาเป็นร้านขายโดนัทเคลื่อนที่ เพราะด้วยจุดเด่นคือ เป็นโมเดลขนาดเล็ก จึงคล่องตัว และยืดหยุ่นสูง สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ ไปตามย่านต่างๆ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล และชุมชนที่อยู่อาศัยหนาแน่น เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม และเข้าไปอยู่ใน Occasion การบริโภคได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็นับเป็น Touch Point เพื่อสร้างการสื่อสารแบรนด์กับผู้บริโภคที่ผ่านไปมาแล้วเห็น
.
.
บาร์บีคิวพลาซ่า “GON Food ทัก”
บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้นำธุรกิจร้านอาหารชั้นนำของประเทศ เจ้าของแบรนด์ดัง บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซบฮัท, ฌานา, โภชา และ หมูทอดกอดคอ เคยเปิดตัวแคมเปญ “แสนสิริ x บาร์บีคิวพลาซ่า กระจายความสุข” แม้จะยังเป็นแค่ขั้นตอนการทำต้นแบบอยู่เพื่อใช้ในการสำรวจตลาดว่าจะสามารถมี Food truck ออกไปจำหน่ายในระยะยาวได้หรือไม่ แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบตลาดและโปรดักส์ใหม่ๆ ไปด้วย ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดีก็อาจจะเป็นสิ่งที่จะสามารถต่อยอดต่อไป แต่แน่นอนว่า สิ่งนี้จะช่วยสร้างสรรค์กิจกรรทางการตลาดและสร้างเอนเกจเมนต์กับลูกค้าและลูกบ้านของแสนสิริได้
คุณบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหารฟู้ดแพชชั่น เผยว่า โปรเจคดังกล่าวใช้รูปแบบ Creative Brand จาก Food Truck ที่ไม่ใช่แค่รถ Truck แต่เป็นการส่ง GON ออกไปทักทายลูกค้า ในคอนเซ็ปต์ “GON Food ทัก” ในสโลแกน “GON ทัก ยกขบวนความอร่อย เสิร์ฟความสุขไปทุกที่” โดยเน้นเรื่อง Quality ในการทำ Prototype ลงพื้นที่สอบถามความต้องการของลูกค้า การเทสโปรดักส์ โดยนำวัตถุดิบหลักที่เป็นเมนูขายดี มาพัฒนาเป็นเมนู “GON เสียบไม้” อาทิ หมูนุ่มบาร์บีคิวเสียบไม้, หมู เนื้อ ไก่ หมักนุ่ม ปลาหมึกเจาะเสียบไม้ เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มบาร์บีคิวพลาซ่า รวมถึงการดีไซน์รถที่ยังความความสนุกสนาน แสดงถึงเอกลักษณ์ของแบรนด์ และการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสร้าง Engagement กับลูกค้า
จะเห็นได้ว่า รถฟู้ดทรัค ไม่ได้มีหน้าที่แค่เป็นรถขายอาหารได้แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่สามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูง เมื่อนำมารวมกับการวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชัดเจนและตรงเป้า จะยิ่งช่วยให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์มากกว่าแค่ขายอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งนี้นับว่าเป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจรถฟู้ดทรัคเป็นอย่างมาก เพราะยิ่งเราวิ่งไปบนถนนมากเท่าไหร่ ผู้คนจะยิ่งเห็นแบรนด์ของเรามากขึ้นเท่านั้น นับเป็นการสื่อสารแบรนด์ที่ทรงพลังและใช้ทุนน้อย เหมาะกับยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้
.