วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. มีแผนจะเริ่มทำ Pilot Test เพื่อทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน หรือ Retail CBDC ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือนักพัฒนาเข้าร่วมทดสอบด้วย ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมทดสอบ
นอกจากนี้ ธปท. ได้เปิดเผยผลการศึกษาถึงผลกระทบ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทยและผลสำรวจความเห็นจากสาธารณชนต่อแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ผ่านรายงาน ‘The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand’ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC และทดสอบใช้งานจริง (Pilot Test) โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
ในด้านผลกระทบของ Retail CBDC ต่อภาคการเงินไทย ผลการศึกษาชี้ว่า การออกแบบและการพัฒนา Retail CBDC ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นต้องไม่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านนโยบายการเงิน การทำงานของระบบสถาบันการเงินและเสถียรภาพโดยรวมของภาคการเงินไทย
โดยจะมีลักษณะสำคัญคือ
1. รูปแบบคล้ายเงินสดและไม่จ่ายดอกเบี้ย
2. อาศัยตัวกลาง อาทิ สถาบันการเงิน ในการแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับประชาชน
3. มีเงื่อนไขหรือระยะเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC จำนวนมากๆ
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเงินฝากหรือเกิดการโยกย้ายเงินฝากปริมาณมากอย่างรวดเร็วจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางในการรับเงินฝากและให้กู้ยืม รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน
โดย ธปท. ประเมินว่าความต้องการใช้ Retail CBDC ของประชาชนจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ Retail CBDC จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน โดยอาจถูกใช้ทดแทนเงินสดและ E-Money ได้บางส่วนในระยะต่อไป
.
ความแตกต่างระหว่างเงินบาท กับ เงินดิจิทัลบาท เป็นอย่างไร
เงินบาท หรือ เงินที่เราใช้ในแอปฯ ทุกวันนี้ จะเรียกว่า e-Money หรือเป็นการพิมพ์ธนบัตรออกมาก่อน แล้วค่อยมาแปลงเป็นตัวเลขภายหลัง ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสั่งพิมพ์ธนบัตรออกมา ก่อนที่จะป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านทางธนาคารต่างๆ หรือนโยบายของรัฐ ซึ่งธนบัตรก็จะถูกเก็บเอาไว้ในคลังของธนาคารเอง กับถูกนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายกันผ่านตัวกลางต่างๆ ลองนึกว่าสมัยก่อน ใครที่ไม่มีแอปฯ ก็จะต้องไปเบิกถอนเงินสดออกมาใช้ จ่ายเงินกันเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ส่วนใครที่มีแอปฯ เงินเหล่านั้นก็จะถูกเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นตัวเลขในแอปฯ เท่านั้น เพียงแต่เงินกระดาษนั้นก็ยังคงมีอยู่
แต่เงินบาทที่เป็น “บาทดิจิทัล” ที่กำลังจะมีการเปิดทดสอบใช้งานนั้น คือ เงินดิจิทัลที่เป็นดิจิทัลจริงๆ
โดยที่ธนาคารกลางจะออกเงินมาบนระบบบล็อกเชน (การออกเงินยังต้องมีสินทรัพย์อื่น เช่น เงินสด หรือทองคำ ค้ำประกันเหมือนเดิมนะ) แล้วเงินดังกล่าวก็สามารถป้อนเข้าสู่ระบบได้โดยตรง เช่น ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ หรืองบประมาณประจำปี แล้วก็เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลของคนไทย ที่แต่ละคนก็จะมีกระเป๋าเงินดิจิทัลเฉพาะตัว คนไทยที่จะใช้เงิน ก็สามารถเอาเงินเหล่านั้นไปจ่ายกันได้เลยเหมือนการใช้เงินสด แม้จะไม่มีแอปฯ ของธนาคารมาเป็นตัวกลางก็ตาม แต่จะมีความแตกต่างจากเงินสดก็คือ ทุกการใช้จ่ายระหว่างกัน จะมีการบันทึกธุรกรรมลงระบบบล็อกเชนเอาไว้ตลอด ทำให้สามารถติดตามเงินได้ทุกบาท ว่าถูกใช้ทำอะไร หรือผ่านมือใครมาบ้าง
แล้วเงินบาทดิจิทัล ต่างจาก Bitcoin อย่างไร
หากแต่จะว่าเหมือน ก็ไม่เหมือนสักทีเดียว เพราะเงินบาทดิจิทัล จะเกิดขึ้น ผ่านระบบบล็อคเชนจากการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสร้างการรับรู้ และรับรอง สามารถใช้จ่ายได้ทุกอย่าง ต่างจาก Bitcoin นั้นเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลหลายๆอย่างเกิดขึ้นโดย ที่ไม่มีใครมาควบคุมเป็นหลัก จะสามารถซื้อขายหรือ มีมูลค่าในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ยอมรับ
.