วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกในขณะนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงวิกฤติด้านสาธารณสุข แต่ยังนำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบผู้คนทุกกลุ่มด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศไทย หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมา หลายคนอาจจะจำภาพของคลื่นมหาชนที่หลั่งไหลเดินทางกลับบ้านเกิดของตนเอง ด้วยผู้คนจำนวนไม่น้อยในนั้นต้องตกงาน เกิดการปรับตัวในทุกระดับ ทุกหย่อมหญ้า อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งผลพวงนี้ก็ส่งผลคลื่นกระทบ ให้กับหลายคนที่ตกงานจนไม่มีกำลังทรัพย์และกำลังซื้อเพียงพอที่จะอยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพสูงอย่างกรุงเทพฯ จนจำเป็นต้องตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดของตนเอง ด้วยหวังใจว่า จะเป็นทางรอดสุดท้ายที่พวกเขามีอยู่ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ “การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากร” ครั้งใหญ่
.
ทิศทางการเคลื่อนย้ายประชากรแรงงานกลับภูมิลำเนา
มีข้อมูลการรายงานผลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ให้ภาพรวมของการเคลื่อยย้ายประชากรแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในมิติเชิงพื้นที่ และย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมไปถึงเมืองท่องเที่ยวหลัก ชลบุรี ภูเก็ตและเชียงใหม่ ขณะที่ข้อมูลอีกชุดพูดถึงอัตราการย้ายเข้าจังหวัดในภาคอีสานและนครศรีธรรมราชมีแรงงานย้ายเข้าจำนวนมาก เฉพาะเดือน ก.พ. มีประชากรย้ายออกจากกรุงเทพฯ สูงถึงร้อยละ 58 ของคนย้ายถิ่นทั้งหมด
ในภาพรวม แรงงานย้ายคืนถิ่นกลับภูมิลำเนาขนานใหญ่ทั่วประเทศ สะท้อนจากจำนวนประชากรทั้งย้ายเข้าสุทธิและย้ายออกสุทธิในช่วง ก.พ. – เม.ย. 63 รวมกัน 2.0 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงหลังของปี63 จำนวนกว่า 2 แสนคนต่อเดือน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 21-60 ปี(ร้อยละ 80) และกว่าครึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย และมีแนวโน้มจะอยู่ต่อเนื่องยาวนานมากขึ้น หากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่มีที่ท่าว่าจะคลี่คลาย
.
.
.
สอดรับกับการรายงานผลของกระทรวงสาธารณะสุขเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ในกรุงเทพฯ มีการคาดการณ์ว่ามีประชากรประมาณ 8 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งเป็นประชากรแฝงมาจากภูมิภาคอื่นทั่วประเทศประมาณ 2.41 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43.6% ภาคกลาง 25.5% ภาคเหนือ 19.9% ภาคใต้ 5.4% และภายหลังรัฐบาลมีการประกาศล็อกดาวน์ช่วงวันที่ 19-22 กรกฎาคม พบว่ามีผู้เดินทางกลับไปภูมิลำเนาแล้ว 504,241 รายด้วยกัน และเมื่อเมืองใหญ่ไม่สามารถให้ที่พึ่งกับพวกเขาได้ แล้วเกิดอะไรขึ้นเมื่อประชากรกระจายตัวกลับภูมิลำเนา
.
อัตราการใช้งานผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มากขึ้นในต่างจังหวัด
มีข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ข้อมูล (data) ผ่านโทรศัพท์มือถือ อ้างอิงจากการสำรวจของผู้ใช้เครือข่ายดีแทค จากข้อมูลพบว่าในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์หลายอย่างได้มีการประกาศใช้แล้ว พบว่าคนไทยใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคมากกว่าในช่วงต้นเดือน มี.ค. ประมาณ +9.58%
ซึ่งผลจากตัวชี้วัดนี้ น่าจะเกิดการย้ายถิ่นฐานของคนในประเทศไทยออกจากเมืองกรุงสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะสู่ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลแยกแต่ละภูมิภาค พบว่าการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แทบไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทั้งที่ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ +10%
โดยในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย. การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเพียง +0.12% จากช่วงต้นเดือน มี.ค. และหากรวมเขตปริมณฑลเข้าไปด้วย การใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายดีแทคก็ยังเพิ่มขึ้นเพียง +3.65% เท่านั้น
ในขณะที่การใช้ข้อมูลจากพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และใต้ เพิ่มขึ้น +16.15%, +13.52% และ +16.48% ตามลำดับ
ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าว ทำให้พอสรุปได้ว่าในระหว่างที่เกิดการระบาดของโควิด-19 น่าจะเกิดการย้ายถิ่นฐานของคนไทย จากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ออกสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะสู่ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้
.
เมื่อประชากรกระจายตัว ไปพร้อมๆกับตลาดออนไลน์ที่ขยายฐานไปรอบนอกมากขึ้น
COVID-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างถาวร กลายเป็นฐานของผู้ซื้อที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและพร้อมใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
โดยมีการสำรวจผู้บริโภคในไทยจาก Future Shopper 2021 ได้ศึกษาผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,025 คน ครอบคลุมทั้งทุกเจนเนอเรชั่น แบ่งเป็นเพศชาย 46% และเพศหญิง 54% โดย 58.8% อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และที่เหลือ 41.2% อาศัยอยู่ในจังหวัดหัวเมืองทั่วประเทศ
พบว่าชาวไทยมีอัตราการใช้ช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์สูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคถึง 94% ระบุว่าการช้อปปิ้งออนไลน์เป็นช่องทางที่มาช่วยพวกเขาไว้ในปี 2563 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 72%
นอกจากนี้ 90% ตอบว่าจะใช้ช่องทางดิจิทัลต่อไปในปีหน้า เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 62% พวกเขามั่นใจว่าพฤติกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ของตนเองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วตลอดกาล เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งมีถึง 88% โดยที่ 62% มีความกลัวที่จะไปเดินจับจ่ายสินค้าภายในร้านค้า
นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังใช้เงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นกว่าในอดีต โดยใช้เพื่อซื้อทั้งสินค้าและบริการ และมีถึง 45% ที่ยินดีจ่ายเงินตั้งแต่ 1,000 – 8,000 บาทในการช้อปปิ้งออนไลน์
พร้อมอัตราการชอปปิ้งออนไลน์ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นและอยู่ในระดับสูงต่อไปในอนาคต โดยผู้บริโภคชาวไทย 62% พบว่าตนเองใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในช่วง COVID-19 และ 92% ระบุว่าจะยังคงซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไปเช่นเดิมหลังการระบาดสิ้นสุดลง
.
ผลสำรวจแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายของพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยในต่างจังหวัด
เมื่อประชากรขยายตัวออกจากเมือง พฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคในต่างจังหวัด ก็แสดงผลที่แตกต่างออกไปจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างเห็นได้ชัด
.
.
โดยมีผลการสำรวจจากสถาบันวิจัยฮาคูโฮโด ได้ทำการศึกษาแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายของพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยโดยแบ่งตามภูมิภาค ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายนและสิงหาคม พบว่าในภูมิภาคต่างๆ นั้นล้วนมีอัตราความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากผลสำรวจที่เก็บจากสถิติของเดือนก่อน (มิถุนายน) ในเพศชายและหญิงจํานวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศทำให้ได้ทราบว่า
– กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอัตราเพิ่มขึ้นเพียง +1
– ภาคตะวันออก +4
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ +6
– ภาคเหนือ +4
– ภาคใต้ +2
– มีเพียงภาคกลางเท่านั้นที่ลดลง -1
จากภาพรวมจะเห็นได้ว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดเองนั้น มีแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายสูงมากกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งพบว่าผู้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกอยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมกลางแจ้ง รวมไปถึงการท่องเที่ยว เนื่องจากสถานการณ์ไม่ตึงเครียดเท่ากับในพื้นที่ส่วนกลางของประเทศ
และหากมองไปที่ตัวเลขของภาคที่มีคะแนนแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายสูงมากเป็นอันดับ 1 นั่นก็คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุที่เป็นอย่างนั้น น่าจะเนื่องมาจากผลของการเคลื่อนตัวออกนอกเมืองของประชากรแรงงาน ภายหลังตัดสินใจย้ายถิ่นฐานกลับไปอาศัยอยู่ยังบ้านเกิดของตนอย่างถาวรมากขึ้น เนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อกินเวลานาน
จึงทำให้มีความต้องการในการซื้อสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยสินค้าที่พวกเขาให้ความสนใจเป็นพิเศษจะอยู่ในหมวด ของใช้เพื่อการสร้างบ้าน ตกแต่งบ้าน สินค้าเกี่ยวกับที่พักอาศัย ซึ่งในอีกนัยก็สะท้อนให้เห็นว่า การย้ายกลับภูมิลำเนาในครั้งนี้ คงจะไม่ใช่การกลับแบบชั่วคราวเหมือนที่เคยเป็นมา
.
จากข้อมูลที่ได้ให้ไว้เบื้องต้นก่อนหน้านี้ อาจกำลังสะท้อนภาพของสังคมเมืองที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ฉากทัศน์ใหม่ แม้ว่ากลุ่มประชากรที่โยกย้ายกลับภูมิลำเนา จะเป็นชนชั้นแรงงานเสียส่วนใหญ่ ผสมโรงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านไปพร้อมเทคโนโลยี ความรู้ที่เท่าทันดิจิทัล ซึ่งอาจจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ เป็นการผสมผสานกันระหว่างวิถีดั่งเดิมและคลังความรู้ยุคใหม่ เพื่อประยุกต์ให้เข้ากับพหุสังคมที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
แต่กระนั้นเราก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า โรคระบาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจกลับบ้าน จะหมดไปตอนไหน และด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ส่งผลให้อัตราการจ้างงานยังคงลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง การย้ายถิ่นฐานครั้งนี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก หากในที่สุดจะเป็นการย้ายเพื่อปักหลักอย่างถาวร
ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้น เราอาจจะได้เห็นบริบทของเมืองที่ขยายตัวสู่รอบนอกมากขึ้น คงจะมีเหตุการณ์ครั้งสำคัญไม่บ่อยครั้งนัก ที่จะมีคลื่นอพยพแรงงานเมืองที่มีคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และเทคโนโลยีย้ายคืนถิ่นมากเช่นครั้งนี้
หากมองในแง่ดี ในวิกฤติครั้งใหญ่เช่นนี้อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จนสามารถสร้างพลวัตขับเคลื่อนพื่นที่ชนบท ให้มีพลังพอที่จะกำเนิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ รูปแบบธุรกิจใหม่ จนสามารถสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ จากซากปรักหักพังที่เกิดจากโควิด-19
.