ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ที่บ้าน มีแววโตต่อเนื่อง กับมูลค่าตลาดกว่า 2,000 ล้านบาท ภายในปี 64


มีการคาดการณ์จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า ปี 2564 มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับบริการทางการแพทย์ที่บ้านของไทย จะมีตัวเลขอยู่ที่ 2,200 – 2,300 ล้านบาท ซึ่งโตกว่า 2.4% จากปีก่อน

แม้ว่าตลาดจะโตได้จากการเพิ่มขึ้นของผู้ให้บริการ ประเภทการบริการที่หลากหลาย และสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้มีความต้องการรับบริการทางการแพทย์ที่บ้านทดแทน ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและผู้ที่ต้องการบริการทางเลือก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านบุคลากรและมาตรการป้องกันโควิด ทำให้ภาพรวมตลาดยังขยายตัวได้ไม่มาก

โดยตลาดบริการทางการแพทย์ที่บ้านอาจเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เฉลี่ยที่ 7.3% (CAGR) ในระยะ 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากผู้บริโภคยังมีทางเลือกบริการสุขภาพในรูปแบบปกติที่หลากหลาย และลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง มีความพร้อมด้านสถานที่รับบริการมีจำกัด

ทั้งนี้ บริการทางการแพทย์ที่น่าสนใจและน่าจะขยายตลาดได้คือกลุ่มบริการหัตถการและบำบัดรักษา โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน กายภาพบำบัด คลายกล้ามเนื้อ กลุ่มบริการผู้ดูแลช่วยเหลือ ซึ่งตอบโจทย์ผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับบริการช่วยเหลืออื่น ๆ อาทิ รถรับส่งผู้ป่วย ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ดูแลที่ผ่านการอบรม และการให้เช่าอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้งานที่บ้าน

จากความต้องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึงและสะดวกสบาย ทำให้โรงพยาบาล คลินิก และศูนย์ดูแลสุขภาพ ต่างเร่งทำตลาดบริการทางการแพทย์นอกสถานที่

ขณะเดียวกันก็มีผู้เล่นรายใหม่ที่เน้นให้บริการสุขภาพเฉพาะ ทั้ง SMEs และ Health Startups เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น ส่งเสริมการแข่งขันด้านคุณภาพและมีค่าบริการที่เข้าถึงได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดบริการทางการแพทย์ที่บ้านก็ยังมีความท้าทายด้านจำนวนบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองและการสร้างมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งหากมีแผนเตรียมความพร้อมเพื่อตอบโจทย์บริการสุขภาพในระยะยาว คาดว่าตลาดบริการทางการแพทย์ที่บ้านน่าจะขยายตัวได้มากขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการบริการสุขภาพที่จะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสขยายตลาดรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่จะเดินทางมารับบริการในไทยเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวในอนาคต

.