“บอนสี” ต้นไม้มาแรง โอกาสเติบโตจากธุรกิจสีเขียว สร้างรายได้หลักแสน


หนึ่งในธุรกิจที่มาแรง และต่างสร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์ให้กับผู้คนไม่น้อย คงหนีไม่พ้นธุรกิจค้าขายไม้ประดับ ที่ถยอยตบเท้าเข้าสู้ตลาดคนเล่นต้นไม้อย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่มีโควิดระบาดลากยาวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เหตุผลหนึ่งอาจจะเพราะคนมีเวลาอยู่บ้านนานมากขึ้น ประกอบกับตลาดสินค้าออนไลน์ยิ่งส่งผลเท่าทวีคูณเมื่อทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจสร้างผลกำไรจากพืชพรรณแปลกใหม่

และในเวลานี้ก็ถึงคลื่นระลอกใหม่อีกครั้ง กับไม้ด่างตัวใหม่ที่มาแรง “บอนสี” ซึ่งไต่เต้าราคาจากหลักสิบ เป็นหลักร้อย ขึ้นเป็นหลักพัน โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “บอนสี” ป้ายใบงามๆ วิ่งไปถึงหลักหมื่น และบางพันธุ์ที่ฮิตๆ ออกใบป้ายสีสวยราคาสู้กันเป็นหลักแสน

คุณทองดี ทัพเกลื่อน หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคลองหน้าไม้ ซึ่งเป็นชุมชนเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและการอนุรักษ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น หนึ่งในผู้รู้เกี่ยวกับบอนสีของเมืองไทยให้ความรู้กับ Smart SME ว่า “บอนสีที่ว่าฮิตมีอยู่สองประเภทด้วยกันคือ

1.) บอนเก่า ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มเครือสายพันธุ์ขุนช้างขุนแผน หลักๆที่ราคาสูงมี ขุนแผน , ขุนช้าง , พลายงาม , พลายมณีนาถ , นางวันทอง แต่ละต้นราคาเล่นกันเป็นหมื่นขึ้น

2.) บอนยุคกลาง ที่ราคาสูงคือ ธาตุบางแก้ว , เรณูนคร , เก้าทัพ , ศิลาหุ้มทอง , มณีรุ่งแสง ซึ่งแต่ละต้นถือว่าสูงหลักหมื่นขึ้นไปเหมือนกันกับรุ่นพี่

คุณทองดียังเล่าต่อว่า “ส่วนเวลาคนเล่นบอนสี เกณฑ์ตัดสินว่า ตัวไหน น่าเลี้ยง น่าเล่น ถูกมองว่าเป็นบอนที่นิยมว่าสวย คืออันดับแรกใบต้องสวย สีสันฉูดฉาด ได้รูปทรงแข็งแรง มีด้วยกันสองประเภทคือ 1. บอนป้าย (ใบ) ต้องชัดเจน ด่างได้งา ไม่เปรอะเลอะเทอะ 2. บอนที่มีสี สีต้องถูกต้องกับสายพันธุ์ มีข้อเด่นชัด ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะรู้ได้ทันทีเพราะเอกลักษณ์เฉพาะของเขา

หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคลองหน้าไม้ เล่าต่อว่า กระแสความนิยมในการเล่นบอนสีนั้น แต่เดิมคนไทยเล่นบอนสีมานานแล้วตั้งแต่ประมาณปี 2443 ถึงปัจจุบัน แต่จะฮิตมากปี 2520-2534 แล้วซบเซาลง ต่อมาปี 2555 เริ่มดังอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

กระนั้นการพัฒนาพันธุ์ก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับคุณกันตพงศ์ วงษ์ทอง เจ้าของร้าน “กันตพงศ์ บอนสี” จังหวัดสระบุรีเล่าให้ Smart SME ฟังว่า ก่อนหน้านี้คนที่นิยมเล่นบอนสีจะเป็นคนในกลุ่มรุ่นพ่อ แต่ต่อมากลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาให้ความสนใจมากขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่าน โดยในปี 2563 ได้ผลักให้พันธุ์ยอดนิยมขึ้นมาเป็นหลักหมื่น แต่ที่เป็นกระแสร้อนแรงมากคงเป็นต้นปีที่ผ่านมา ผลักให้ตัวเด่นๆ ผสมแม่พันธุ์ใหม่ราคาพุ่งไปถึงหลักแสน

ตัวไหนเด่น ตัวไหนดัง

บอนสีที่เป็นพันธุ์ยอดนิยมในขณะนี้คือ “เมืองเกาะเกร็ด” ราคาประมาณ 50,000-100,000 บาท คุณกนกวรรณ กุลชาติชัย เจ้าของร้านสวนคุณน้อย จังหวัดเชียงใหม่กล่าวกับ Smart SME ว่า “เมืองเกาะเกร็ดที่ร้านของคุณปอนต้นละเป็นแสนทั้งนั้น” ตัวต่อมาที่เป็นที่นิยมไม่แพ้ “เมืองเกาะเกร็ด” คือบอน “ชายชล” ก้าน ใบ หลอด (ใบใหม่ที่กำลังพลิ) สวยๆ ราคาไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ส่วน “นางกวักด่าง” ก็เป็นพันธุ์ไม้ตระกูลเดียวกันราคาก็ไม่แพ้กันต้นละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท เช่นกัน

ทางด้านสวน “กันตพงศ์ บอนสี” เพิ่งได้บอนตัวใหม่ “ไก่สยาม” ป้าย(ใบ)สวยมาก ซึ่งจะนำมาทำเป็นแม่พันธุ์เพาะเชื้อ และคาดว่าหากเพาะแล้ว ถ้าออกมาก้านดี ป้ายสวย มีสัก 2 ป้ายและมีหลอด (ใบใหม่ที่กำลังพลิ) ราคาก็ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท เพราะ “ไก่สยาม” มีที่สวนของเขาเท่านั้น

ส่วนราคาที่อยู่ในหลัก 10,000+ บาท ก็จะมี ไก่แก้วสยาม , ไทยนิยม , เพชรสุวรรณโชติ , หลวงปู่สิทธิ , ยอดมงกุฎ

นอกจากนี้ยังมีบอนสีที่ไต่ระดับขึ้นมาเป็นราคาหลัก 1,000+ บาท เช่น ศรีเงินยวง , ไก่แก้วตาเสือ , บางใหญ่ , วังทอง , ไก่สุพรรณ , องค์หญิงพญาพนาวัล , แก้วไก่สยาม , ศิลาหุ้มทอง

คุณกนกวรรณกล่าวในฐานะของคนขายบอนสีมาเป็นเวลา 50 ปี พร้อมให้ทิศทางอนาคตไว้อย่างน่าสนใจว่า “ราคาของบอนสีที่เป็นอยู่ในขณะนี้ไม่สมเหตุสมผล แต่ก่อนราคาต้นละเป็นหลักร้อยบาท เท่านั้น แต่เมื่อคนมานิยมใน 2-3 ปีนี้ ราคาก็พุ่งขึ้นเป็นหลักพัน หลักหมื่น หลักแสน ซึ่งตนเองไม่รู้ว่าความนิยมนี้จะสั้นหรือยาว แต่ถ้าหากเลิกฮิตแล้ว ราคาจะลงเลย แต่สำหรับคนที่ต้องการซื้อไปขายคิดว่าเอามาลงที่ร้านได้เลย เพราะช่วงนี้ราคายังขึ้นอยู่ โดยให้ดูว่าหากดาราหรือคนดังยังเล่นอยู่ ราคาก็ยังไปต่อ

ซึ่งแตกต่างจากความคิดเห็นของคุณกันตพงศ์ที่มองว่าตลาดบอนสียังเป็นที่ต้องการของคนเล่นไม้ใบอยู่ เพราะยุคนี้เป็นยุคของตลาดไม้ด่าง กลุ่มทางโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบอนสีก็มีสมาชิกเข้าไปร่วมเป็นหลักหลายแสน ตลาดส่งออกก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเทศในย่านอาเซียนก็สนใจมาซื้อ จึงเชื่อว่ายังไม่ตกยุคเร็วเกินไป

.

ราคาบอนสียอดนิยม

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

ที่มา : สวนกันตพงศ์ บอนศรี

.