คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อนุมัติกู้กองทุนน้ำมัน 2 หมื่นล้านบาท โดยจะกู้จากสถาบันการเงินในประเทศ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยตรึงราคาได้ถึง เม.ย. 65 ในส่วนของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เตรียมเสนอลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานเหลือ 5 สต.
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนา เรื่อง “เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ” ว่า โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศนั้น กระทรวงพลังงานจะมีหน้าที่ติดตามดูแลความเหมาะสมของราคาขายปลีกให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับอ้างอิงความเหมาะสมในการขายปลีกน้ำมัน โดยราคาโครงสร้างน้ำมันที่อ้างอิงจะมี 2 ส่วน คือ 1.ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และ 2.ราคาขายปลีก
.
.
นอกจากนี้ จะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีหน้าที่ช่วยตรึงราคาน้ำมันหากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูง ต่อมาปี 2562 ได้ยกเลิกกองทุนเดิมออกมาเป็นพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อปี 2562 สำหรับบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คือ เป็นกลไกในการช่วยลดผลกระทบกับประชาชน โดยรัฐบาลจะใช้เงินกองทุนเข้าไปจ่ายค่าชดเชยบางส่วนให้กับผู้ค้าน้ำมัน เพื่อตรึงราคาในส่วนนี้ไว้ เช่นสถานการณ์ปัจจุบันได้มีการตรึงราคาไว้จนเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ไม่ต้องชดเชยราคาขายปลีกเงินที่เคยจ่ายเพื่อการชดเชยลดลงไป ดังนั้น ในภาวะปกติจึงมีการเก็บเงินเข้าไปไว้ในกองทุนสำหรับเป็นทุนในการรับมือภาวะน้ำมันแพงรอบใหม่
“ปัจจุบันเราเก็บเงินเข้ากองทุน จากน้ำมันเบนซินไม่ผสมเข้ากองทุน แล้วนำมาชดเชยน้ำมันเบนซิน พวก E20, E85 จนเหลือ 0 บาท ในส่วนของน้ำมันดีเซลกองทุนนำเงินมาชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ เพื่อตรึงราคาน้ำมัน B7, B10 อยู่ที่ 2 บาท ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และใช้เงินตากกองทุนอีก 4 บาท เพื่อตรึงราคา B20 ที่มีรถบรรทุก กับรถปิคอัพใช้อยู่ ดังนั้น ตอนนี้กองทุนจึงมีแต่รายจ่าย นอกจากจะตรึงราคาน้ำมันแล้ว กองทุนยังเข้าไปตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มเพื่อช่วยประชาชน ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 รอบแรก (ปี 2563) จนกระทั่งปัจจุบัน ส่งผลให้เงินกองทุนที่มีอยู่เกือบ 40,000 ล้านบาท ในปี 2563 ตอนนี้เหลือเพียง 7,144 ล้านบาท” นายกุลิศ กล่าว
ล่าสุด วานนี้ (2 พ.ย.) กบน.มีการอนุมัติให้กู้เงินเพื่อเติมอีก 20,000 ล้านบาท บวกกับฐานะกองทุนที่เหลืออยู่ 7,144 ล้านบาท โดยรวมทั้งหมดจะตรึงราคาได้ถึงเดือน เม.ย. 2565 บนสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนการกู้เงินของกองทุนนั่นในเบื้องต้นจะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ เข้ามาเป็นช่วงๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนฯ และคงไม่ใช้วิธีการออกบอนด์ เนื่องจากการระดมทุนดังกล่าวต้องใช้เวลา
นอกจากนี้ ในวันศุกร์ (5 พ.ย.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีการประชุมโดยจะเสนอลดการจัดเก็บเงินน้ำมันเข้ากองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงานจาก 10 สตางค์ เหลือ 5 สตางค์
นายกุลิศ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตน้ำมัน โดยมีการจัดหาน้ำมันดิบประมาณ 965,000 บาร์เรลต่อวัน จากตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ รัฐเซีย เป็นต้น ถึง 89% และผลิตเองได้เพียง 11% หรือประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้น เมื่อมีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาน้ำมันในประเทศจึงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงตลาดภูมิภาคเอเซีย ตลาดการค้าน้ำมันถือเป็นตลาดเสรี เนื่องจากภาครัฐไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ช่วงโควิด-19 ระบาดแรกๆ เป็นช่วงที่ทั่วโลกตกใจกับโควิด-19 ราคาน้ำมันโลกจึงตกไปต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล พอมากลางปี 2564 เมื่อเริ่มมีวัคซีนทั่วโลกเริ่มผ่อนคลาย มีการเดินทางมากขึ้น ความต้องการด้านพลังงานจึงมีสูงขึ้น ประกอบกับกระแสโลกร้อนเป็นเทรนด์ขึ้นมา จึงทำให้กลุ่มโอเปกประกาศไม่เพิ่มกำลังการผลิต ลดจำนวนการผลิตน้อยกว่าความต้องการ ราคาน้ำมันตลาดโลกจึงดีดตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา