เทคนิค “ขับรถลุยน้ำท่วม” เตรียมความพร้อม ในวันที่ “เมืองกรุง” และพื้นที่เสี่ยง อาจต้องน้ำท่วมบ่อยขึ้น จากสภาวะโลกร้อน


ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ใช้รถยนตร์ส่วนตัวในการสัญจรในกรุงเทพและปริมณฑล โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา อาจได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลที่หนุนสูง ทำให้เราสามารถพบเจอภาพของรถยนตร์ที่ต้องขับลุยน้ำอย่างทุลักทุเล จนไปถึงภาพของรถยนตร์ที่ไปต่อไม่ไหวต้องพังกลางทางก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งผลของน้ำท่วมหลายครั้งก็มาจากน้ำทะเลหนุนสูง เมื่อประกอบกับฝนที่เทกระหน่ำสำทับ พลันท้องถนนก็กลับกลายเป็นเสมือนทะเลน้อย สร้างผลกระทบทางจราจรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในปัจจุบัน วิกฤตการณ์โลกร้อน (Climate change) มีทีท่าว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น  เพราะเมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลกระทบให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมากกว่าปกติ โดยจะมีช่วงน้ำทะเลหนุนสูงสุดในเดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม ส่วนมากน้ำทะเลจะหนุนในช่วงเช้า นานประมาณ 2-3 ชั่วโมงน้ำจะลดลง แต่ถ้าวันไหนหนุนสูงระดับน้ำท่วมมิดผิวการจราจรทำให้รถสัญจรลำบาก ผู้ขับขี่จึงควรเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนตัดสินใจขับรถลุยน้ำ

แต่ก่อนที่จะขับรถลุย “น้ำท่วม” ต้องรู้ก่อนว่า ระดับน้ำแค่ไหนที่รถสามารถขับผ่านไปได้โดยไม่ทำให้เครื่องยนต์เสียหาย และลดความเร็วขณะที่ขับสวนกัน ไม่ควรเร่งเครื่อง เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าอย่างเหมาะสม และประเมินสถานการณ์ของระดับน้ำว่าจะสามารถลุยต่อได้หรือไม่

น้ำท่วมระดับไหน ไม่ควรขับรถลุย

ระดับน้ำ 5-10 ซม. ขับผ่านได้ทุกคัน แต่ยังต้องมีสติ ระมัดระวัง ไม่ควรใช้ความเร็วสูง อาจทำให้สูญเสียการควบคุมได้ เพราะถนนลื่น

ระดับน้ำ 10-20 ซม. รถทุกประเภทยังขับผ่านไปได้ รถขนาดเล็กอาจได้ยินเสียงน้ำใต้ท้องรถ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยังมีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปในตัวรถ

ระดับน้ำ 20-40 ซม. รถอีโคคาร์ต้องระวัง เพราะส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้มีความสูงจากระดับพื้น 15-17 ซม. อาจทำให้เกิดปัญหาท่อไอเสียจม แต่ยังสามารถขับลุยน้ำผ่านได้ ส่วนรถกระบะยังผ่านไปได้

ระดับน้ำ 40-60 ซม. รถเก๋ง รถขนาดเล็กต้องเลี่ยง รถกระบะยังฝ่าไปได้ ปิดแอร์ขณะขับ ป้องกันพัดลมแอร์หน้ารถดูดละอองน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์ดับ ขับขี่ให้ช้าลง ลดการเกิดคลื่นน้ำซัดเข้าหารถ จากรถคันอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่น้ำจะกระจายเข้าสู่ห้องเครื่องยนต์

– ระดับน้ำ 60-80 ซม. อันตรายต่อรถทุกคัน ไม่ควรขับลุย เพราะน้ำอาจไหลเข้าห้องเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์ดับ หยุดชะงัก ก่อให้เกิดความเสียหายในระบบต่างๆ ได้ ซึ่งการขับลุยน้ำท่วมระดับนี้ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ ที่สำคัญอย่าปะทะคลื่นโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงเครื่องดับกลางอากาศ 

– ระดับน้ำสูงเกินกว่า 80 ซม. อันตรายควรใช้เส้นทางอื่น เพราะน้ำจะท่วมฝากระโปรงรถ ท่วมไฟหน้ามิด อันตรายต่อเครื่องยนต์ ควรปิดระบบไฟต่างๆ เพื่อป้องกันการลัดวงจร

หลังจากขับรถลุยน้ำ อย่าลืมตรวจเช็คการทำงานของระบบเบรก เหยียบเบรกย้ำๆ เพื่อไล่น้ำออก และขับขี่ให้ช้าลง เพื่อความปลอดภัย

เทคนิค “ขับรถลุยน้ำท่วม” ช่วงน้ำทะเลหนุนสูง

1. ประเมินสถานการณ์ระดับน้ำว่าสามารถลุยต่อได้หรือไม่ เช็กระดับน้ำที่ปลอดภัยต่อรถของคุณ

2. ตัดสินใจลุยแล้ว ต้องมีเทคนิคขับรถลุยน้ำท่วม ปิดแอร์ ใช้เกียร์ต่ำ ขับขี่ให้ช้าลง เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

3. หลังจากขับรถลุยน้ำ อย่าลืมตรวจเช็กการทำงานของระบบเบรก เหยียบเบรกย้ำๆ เพื่อไล่น้ำออก และหากสภาพพื้นที่เป็นแถวชายทะเล เช่น ปากน้ำสมุทรปราการ พระสมุทรเจดีย์ บางขุนเทียน ซึ่งเป็นน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย รถที่ลุยน้ำเป็นประจำ ช่วงล่างจะเป็นสนิมเร็ว ดังนั้น หลังจากใช้รถลุยน้ำเค็ม ควรฉีดน้ำล้างส่วนที่สัมผัสกับน้ำเค็มทุกครั้ง ช่วยชะลอการเกิดสนิทได้

.

.

.

สิ่งที่ควรทำ เมื่อต้องขับรถลุยน้ำ

1. ปิดแอร์ เมื่อเจอน้ำท่วมขัง เพราะหากน้ำท่วมถึงตัวพัดลม พัดตีน้ำขึ้นมาโดนบริเวณห้องไฟฟ้าอาจช็อตและทำให้เครื่องยนต์ดับได้

2. รักษาระยะห่างจากรถคันอื่น เพราะระบบเบรกที่แช่น้ำนานๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง

3. ลดความเร็ว และรักษาความเร็วให้คงที่ ห้ามจอดและไม่ควรอยู่ใกล้รถคันอื่น

4. ใช้เกียร์ต่ำ เพื่อประคองเครื่องยนต์ไม่ให้ดับ หากเป็นรถยนต์เกียร์ออโต้ให้ใช้เกียร์ L
รถยนต์เกียร์ธรรมดาให้ใช้เกียร์ 1 หรือ 2

5. เมื่อขับพ้นน้ำท่วม เหยียบเบรกย้ำๆ เพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก

6. ถึงที่หมาย อย่าเพิ่งดับเครื่องทันที ให้ติดเครื่องยนต์ไว้สักพัก เพื่อไล่น้ำและความชื้นที่ค้างอยู่ตามเครื่องยนต์

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะขับรถลุยน้ำ ลุยฝน อย่าลืมตรวจสอบความพร้อมของรถก่อนเสมอ ไม่ว่าาจะเป็น ที่ปัดน้ำฝน ยางปัดน้ำฝน สภาพของล้อยาง ไม่มีรอยฉีกขาด บวม ดอกยางไม่สึกหรอ มีความลึกพอสามารถยึดเกาะถนนและรีดน้ำได้ดี และเว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าปกติ ประมาณ 10-15 เมตร รวมถึงเมื่อรถลื่นไถลไม่ควรเบรกทันที ค่อยๆ ลดความเร็ว หรือใช้เกียร์ต่ำ

ที่มาข้อมูล : สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก