EXIM BANK ชี้ SMEs ต้องเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล Transform ธุรกิจ พร้อมให้บริการครบวงจร


EXIM BANK พร้อมให้บริการครบวงจรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs เร่งปรับโฉมธุรกิจรับมือโลก Next Normal โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปรับปรุงกระบวนการผลิต การค้า และการขนส่ง รวมทั้งการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

 

ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเปิดงานสัมมนาออนไลน์ “Transformation ทางรอด SMEs” เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ว่า “Transformation” เทียบเคียงได้กับคำว่า “การแปลงร่าง” คือการทำให้ธุรกิจพลิกเปลี่ยนจากสิ่งเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ ไปสู่สิ่งใหม่กว่า ดีกว่า และมีความพร้อมมากกว่าที่จะขับเคลื่อนไปในอนาคต โดยอาจเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงการแปลงร่างแบบพลิกโฉมจนไม่เหลือเค้าโครงของร่างเดิม ไม่ว่าจะเป็นการแปลงร่างของรูปแบบธุรกิจ กระบวนการหรือวิธีการทำธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมกระบวนการทำงานร่วมกับแรงงาน ช่วยให้การทำงานสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 ธุรกิจ SMEs ปิดกิจการ 3,819 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 14,749 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของการบริโภคจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกภาคธุรกิจต้องเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งอาจกลายเป็นภัยเงียบที่ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องปิดกิจการในที่สุด หากเจ้าของกิจการมิได้เตรียมแผนรองรับหรือปรับตัวได้ทัน ในขณะที่การค้าออนไลน์ของโลกและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ได้ปรับตัวมาขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น เป็นความหวังของการฟื้นภาคส่งออกและเศรษฐกิจ เพี่อก้าวต่อไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่ตอบสนองตลาดได้ดีกว่า ผู้ประกอบการจึงควรนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินองค์กร ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการขนส่งและส่งมอบสินค้าถึงคู่ค้าหรือผู้บริโภคได้สำเร็จ

 

 

โดยนิยามของการ Transformation คือ การเปลี่ยนไปยังสิ่งที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งคริสโตเฟอร์ ฟรีแมน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ รวมถึงกูรูด้านเศรษฐศาสตร์คนอื่น ๆ ก็ได้บอกว่า ในอดีตวงจรชีวิตธุรกิจจะมีค่าเฉลี่ยที่ 50 ปี จนลดลงมาเหลือ 25 ปี, 15 ปี, และ 10 ปี ตามลำดับ แต่ปัจจุบัน Business Life Cycle เหลือเพียง 5 ปี เท่านั้น และคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 18 เดือนในอนาคต โดยความตายของธุรกิจนั้นมาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ

• ตายจาก Disruption เช่น ฟิมล์ถ่ายรูป เช่าวีดีโอ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และ ATM
• ตายจาก คู่แข่งที่เก่งกว่า เช่น ปลาเร็วกินปลาช้า ประเทศส่งออกที่เก่งกว่า อย่างเวียดนามที่ไม่ได้มองเราเป็นคู่แข่งแล้ว นั่นเพราะความเก่งของเรายังมีเท่าเดิมเมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน
• ตายจาก การถูกผู้บริโภคทิ้ง ปัจจุบันผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และมีความต้องการที่หลากหลาย ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ความต้องการเปลี่ยนไว รักง่ายหน่ายเร็ว

 

 

ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจซึ่ง “Transformation คือการเปลี่ยนผ่านของอัตลักษณ์ หรือรูปแบบการทำธุรกิจ จากแบบเดิมไปสู่แบบใหม่” และหันมาวิเคราะห์ตัวเราเองว่ายังทำธุรกิจด้วยความประมาทหรือไม่ เพื่อTransform พัฒนาปรับปรุงกิจการ โดยใช้เทคโนโลยีระบบ Automation, Data Analytics และ AI เข้ามาช่วยยกระดับบริการ รวมถึงวางแผนการตาย เพื่อตายในธุรกิจหนึ่งแล้วไปเกิดใหม่ในอีกธุรกิจหนึ่งที่ตอบสนองตลาดได้ดีกว่า ซึ่งหนทางสู่การ Transformation มีอยู่ 3 แนวทาง ดังนี้

• ซ่อมร่าง ให้กลับมาแข็งแรง (Process Transformation) นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับปรุงการทำงาน
• เกิดใหม่ เพื่อก้าวต่อ (Business Model Transformation) เปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อสร้าง Value ใหม่ให้ตลาด
• ปรับจิตวิญญาณ ให้พร้อมเปลี่ยนแปลง (Culture/Organization Transformation) ปรับวัฒนธรรมองค์กรและ Mindset ให้พร้อมต่อการ Transform

 

 

EXIM BANK มองเห็นทิศทางดังกล่าว จึงเร่งเดินหน้าภารกิจสนับสนุนการซ่อมและสร้างอุตสาหกรรมใหม่และขยายช่องทางหรือแพลตฟอร์มการค้าใหม่ภายใต้นโยบาย Dual-track Policy โดย EXIIM BANK ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ อยู่เคียงข้างลูกค้าและพันธมิตร ในฐานะ “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs” ตั้งแต่การ “ซ่อม” “สร้าง” “เสริม” เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจ เสริมสร้างการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในสังคม ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem)เพื่อเชื่อมโยงการค้าเข้ากับเมกะเทรนด์ที่สอดรับกับยุค Next Normal โดยเฉพาะสังคมดิจิทัลมากขึ้น อาทิ แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ EXIM Thailand Pavilion ตลอดจนบริการ EXIM Biz Transformation Loan อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนเพิ่มเพื่อยกระดับประสิทธิภาพและกระบวนการผลิต ขยายกำลังการผลิต รวมทั้งปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล และบริการอื่น ๆ ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการ กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเร็ว

ในงานสัมมนานี้ EXIM BANK จับมือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมพันธมิตรและผู้ประกอบการต้นแบบ ร่วมเสนอแนวทางและแบ่งปันประสบการณ์จริง เพื่อสร้างทางรอดให้ธุรกิจ SMEs ได้แก่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) นายที่รัก บุญปรีชา กูรูและ Influencer ด้านไอทีจากแบไต๋ไฮเทค และ ภญ.ภาคินี จิวัฒนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกอาหารสุขภาพออร์แกนิค

“EXIM BANK พร้อมสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่และ Transform ธุรกิจที่ดำรงอยู่ให้สามารถก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อยกระดับการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ สร้างยอดขายหรือรายได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคในยุค New Normal และ Next Normal ได้อย่างมีเสน่ห์และมีศิลปะ กล่าวคือ มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ดร.รักษ์กล่าว

Sponsor Band: EXIM BANK of Thailand 
ปรึกษา EXIM HOTLINE ช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบการจาก COVID-19 โทร. 0 2037 6099