ภายหลังจากที่ไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอน ได้เข้ามาในประเทศของเรา ซึ่งแม้เบื้องต้นจะยังไม่พบการระบาดในคนไทย เพราะโดยส่วนใหญ่การตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ยังจำกัดแค่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น หากแต่การปรากฏตัวของไวรัสสายพันธ์ใหม่ ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้แก่แวดวงธุรกิจอยู่ไม่น้อย
ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับอัตราการแพร่เชื้อและประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม การที่หลายประเทศเริ่มคุมเข้มด้านการเดินทาง ก็อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดยเฉพาะในไตรมาสแรกได้รับผลกระทบ จากปัจจัยข้างต้นดังที่กล่าวไว้
ทั้งนี้ได้มีความเห็นของ นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ซึ่งได้มองว่า ภายใต้มาตรการการเดินทางและสุขอนามัยต่างๆ ที่คุมเข้มมากขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการปิดประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกมีความกังวลต่อความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัด
ทั้งนี้ ในการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอน จะขึ้นอยู่กับอัตราการแพร่เชื้อ ประสิทธิภาพของวัคซีน และความรุนแรงของโรค ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้แบ่งออกเป็น 2 กรณี ภายใต้สมมติฐานที่การแพร่ะบาดของสายพันธุ์ โอมิครอน จะบรรเทาลงในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยคาดว่าจะไม่มีการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเติม โดยให้ใช้วงเงิน 2.6 แสนล้านบาทที่คงเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
ในกรณีดีนั้น แม้ไวรัสจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่หากความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ เดลต้า และวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันสามารถลดหรือจำกัดระดับความรุนแรงของอาการป่วยได้ ไทยก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ ดังนั้น เศรษฐกิจทั้งปี 2565 ก็ยังน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ที่ 3.7% โดยเศรษฐกิจไทยยังจะได้รับแรงหนุนจากการส่งออก การฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งภายใต้กรณีนี้แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ในกรณีแย่ที่สายพันธุ์ โอมิครอน มีความรุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์ เดลต้า และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อความจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ อาทิ ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.8% อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานในกรณีแย่ สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมก็ยังดีกว่าช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ เดลต้า ที่เริ่มในช่วงเดือน เม.ย. 64 ที่ผ่านมา
แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด ทั้งอัตราการแพร่เชื้อ หรือประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ ว่าจะมีความสามารถยั้บยั้งเชื้อนี้ได้หรือไม่ แต่ล่าสุดก็ได้มีคำเตือนจาก นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดในอัตราความเร็วที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ และขณะนี้ได้ระบาดไปยัง 77 ประเทศแล้ว ความจริงก็คือ ขณะนี้โอมิครอนได้ไปยังประเทศส่วนใหญ่ของโลกแล้ว แม้ว่ายังไม่ถูกตรวจพบในบางประเทศก็ตาม โดย WHO มีความกังวลต่อการที่ประเทศส่วนใหญ่เข้าใจว่าโอมิครอนเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง ซึ่งเรายังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าไวรัสสายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการของโรคที่เบากว่าหรือรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้จึงควรต้องจับตาและไม่ประมาทเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่”