วิธีบริหารภาษี !! หมุนรายได้ยังไงให้จ่ายน้อยลง ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับตนเอง


ทุกวันนี้เราเกี่ยวข้องกับภาษีหลายประเภท ทั้ง “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ที่จ่ายรวมไปกับการซื้อสินค้าและบริการ หรือ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ที่ถูกหักอัตโนมัติเมื่อได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก และสำหรับผู้มีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือฟรีแลนซ์ จะต้องยื่น “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ทุกปี ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีจะขึ้นอยู่กับรายได้ของตัวเอง ยิ่งมีรายได้มากเท่าไรก็ต้องจ่ายมากขึ้นไปตามลำดับ แต่ถ้ารู้จักวางแผนภาษีสักหน่อยจะช่วยประหยัดได้มาก รวมทั้งสามารถบริหารจัดการตัวเองให้ชำระภาษีได้ตรงเวลาอีกด้วย วันนี้เราเลยจะพาไปพบกับทริคเด็ด เพื่อการจัดการภาษีเงินได้อย่างชาญฉลาด และยังคงถูกกฎหมาย จะมีวิธีและขั้นตอนอย่างไรบ้าง ตามมาชมพร้อม ๆ กันได้เลย

กระจายหน่วยภาษี กระจายเงินได้ ช่วยบริหารภาษีได้ง่ายขึ้น

เนื่องจากประเทศของเรา ใช้ระบบ “ภาษีเงินได้” ในอัตราก้าวหน้า ฉะนั้นยิ่งเรามีรายได้สูงเท่าไหร่ ก็จะต้องเสียภาษีสูงตามเท่านั้น ซึ่งฐานรายได้ก็จะส่งผลต่อ การลดหย่อนภาษีที่แตกต่างกันออกไป เช่น 0-150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี 150,000-300,000 ยกเว้นภาษี 5% 300,000-500,000 ยกเว้นภาษี 10% เป็นต้น ลดหลั่นกันไปเป็นขั้นบันได ซึ่งสูงสุดคือ 5,000,000 ได้ยกเว้นภาษีอยู่ที่ 35%

และการกระจายเงินได้ในที่นี้ ก็หมายถึง ถ้าเรามีรายได้ 1 ล้านบาท แล้วเราไปรับรายได้นั้นมาคนเดียว เราจะเสียภาษีถึง 97,000 บาท แต่ถ้าเราแยกรายนั้นเป็น 2 ก้อน โดยกระจายไปให้อีกคนช่วยรับรายได้อีกก้อนแทน ซึ่งเมื่อจะต้องเสียภาษี ก็จะต้องอยู่ที่คนละ 18,500 บาท เมื่อรวมกันแล้ว ก็ตกอยู่ที่ 37,000 บาทนั่นเอง ช่วยประหยัดไปได้หลายหมื่นเลยทีเดียว

การใช้สิทธิลดหย่อน หรือการลดเงินได้สุทธิ

“การใช้สิทธิลดหย่อน” วิธีนี้แทบจะเป็นวิธีที่นิยมและแพร่หลายกันอยู่แล้วโดยปกติ เพราะความสะดวก และรวดเร็ว สามารถวางแผนและทำได้ทันที ผ่านการซื้อกองทุน หรือสิทธิพิเศษ SSF RMF ประกันชีวิตที่แตกต่างกันไป หรือแม้แต่ดอกเบี้ยกู้บ้านเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยให้เราเสียภาษีลดลง ทำให้เป็นอันดับแรก ๆ ที่คนจะใช้บริหารภาษีกันอยู่เนือง ๆ

อีกวิธีที่สามารถช่วยได้ คือเปลี่ยนเงินได้บางส่วน เป็นเงินได้ที่เข้าเกณฑ์การได้รับข้อ “ยกเว้นภาษี” เพราะทั่วไปแล้ว เรามักจะมีการเบิกค่าจิปาถะต่าง ๆ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าอบรม หรือแม้แต่ค่าน้ำมันในการเดินทาง เพราะอันที่จริงเงินเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้อยู่ในอัตราเงินเดือนปกติของเรา ฉะนั้นเป้นไปได้ไหมที่เราจะเจรจากับนายจ้างเปลี่ยนเงินได้บางส่วน เป็นเงินได้ที่ไม่เสียภาษี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยของนายจ้างและลูกจ้าง

แปลงประเภทเงินได้ เพื่อหักค่าใช้จ่าย

ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน การเสียภาษีโดยปกติทั่วไปจะเสียเฉพาะ 40(1) และ/หรือ 40(2) เท่านั้น แต่ข้อจำกัดของรายได้ใน 2 หมวดนี้ก็ยังมีข้อจำกัดคือ หักค่าใช้จ่ายสูงสุดได้แค่ 100,000 บาทเท่านั้น แต่รายได้ประเภท 40(3) ไปจนถึง 40(8) จะทำให้เราสามารถหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ เช่นเปลี่ยนรายได้ประเภทที่ 1 เป็น ประเภทที่ 8 หรือจากประเภทที่ 2 เป็นประเภทที่ 6 ซึ่งนั่นจะทำให้เราหักค่าใช้จ่ายได้เยอะขึ้นตามความเหมาะสม และเมื่อหักค่าใช้จ่ายได้เยอะขึ้นก็จะเสียภาษีลดลงตามมานั่นเอง

กำหนดเวลารับเงิน ให้เหลื่อมกับเวลายื่นภาษี ไม่ให้มากองรวมกันจนหนักหน่วงเกินไป

สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ รับเป็นรายครั้ง หรือเป็นห้วงโครงการ การขอเลื่อนจังหวะเวลาได้รับรายได้บางส่วนออกไปนับรวมกับยอดเสียภาษีในปีหน้าก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีเหมือนกัน หากเราสามารถจัดการกำหนดการหรือบริหารการเงินภายในได้ เราอาจจะแบ่งจากจำนวนใหญ่ก้อนเดียว เป็นสองก้อน ก้อนแรกรับเงินในปีภาษีนี้ อีกก้อนก็ให้กำหนดรายรับข้ามปีไปปีภาษีหน้า ซึ่งหากทำได้ ก็จะช่วยให้เราบริหารภาษีได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเยอะ เพราะเริ่มคำนวณภาษีใหม่แล้ว

ชั่งน้ำหนัก โดยการ “เลือกรวม” หรือ “ไม่รวม” เสียภาษีในปลายปี

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้จากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เงินปันผลจากหุ้นดังกล่าว ในทางภาษีถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 หรือเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้เงินได้ประเภทเงินปันผล กฎหมายบังคับให้ผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 เสมอ แต่เมื่อถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว จะมีสิทธิเลือกเสียภาษีได้ 2 วิธี คือ

1.) ใช้เลือกสิทธิ Final Tax ซึ่งสิทธิ Final Tax คือการที่เราได้รับเงินได้และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้แล้ว จะถือว่าเราได้เสียภาษีไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องนำมายื่นรวมคำนวณฯ ตอนปลายปีในแบบ ภงด.90/91 อีก เช่น ได้รับเงินปันผลมา 100 บาท จะถูกหักภาษีไป 10% หรือ10 บาท แปลว่าเราได้รับเงินได้สุทธิหลังหักภาษีมาเท่ากับ 90 บาทและเราก็ไม่ต้องนำไปยื่นภาษีอีก

2.) ไม่ใช้สิทธิ Final Tax แต่เลือกเอาเงินได้ปันผล 100 บาทที่ถูกหักภาษีไว้ 10% มาเลือกรวมคำนวณฯ กับเงินได้ประเภทอื่นเพื่อยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90/91)ตอนปลายปี (แม้จะได้รับเงินปันผลสุทธิที่ 90 บาท แต่ปลายปีถือว่ามีเงินได้ปันผล 100บาทที่เราจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อยื่นแบบฯ)

โดยหลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เริ่มจากนำรายได้ที่เราได้รับ เช่น รายได้จากเงินปันผล 100 บาทที่เกิดในปีภาษีนั้น หัก ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน จะได้ “เงินได้สุทธิ”ซึ่งตัวเงินได้สุทธิตัวนี้ จะเป็นตัวที่เรานำไปคูณกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจุบันอยู่ในช่วง 5%-35% เมื่อคำนวณแล้วเสร็จได้จำนวนภาษีที่ต้องเสียเท่าไหร่ เราสามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้ถูกหักไว้ 10% จากเงินได้ปันผลที่ได้รับมาใช้ หักออกจากภาษีที่คำนวณได้

โดยวิธีนี้เราควรประเมินรายได้ของตนเอง และหาวิธีที่เหมาะสม เพราะการจะรวมหรือไม่รวมภาษีแบบนี้ ขึ้นอยู่กับฐานรายได้และการถ่วงดุลน้ำหนักว่าเราจะได้แบ่งเบาภาษีจากผลของเรื่องนี้ขนาดไหน ซึ่งก็นับเป็นการวัดใจประมาณหนึ่ง หากแต่เมื่อเรารู้ หรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้แล้ว เชื่อได้ว่า จะส่งผลให้เป็นประโยชน์มากกว่าตามมา